คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๐๐๓ - ๑๗๐๐๔/๕๗
ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินกองทุนเงินทดแทน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กับนายชัยวัฒน์ เมฆพัฒน์ แต่งงานกันตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยตั้งแต่วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๙ นายชัยวัฒน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ ระหว่างอยู่กินด้วยกันนายชัยวัฒน์ทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทวงศ์สมุทรนาวี จำกัด ตำแหน่งกัปตันเรือสินค้า ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ ค่าจ้างเดือนละ ๔๗,๐๐๐ บาท และเป็นผู้ประกันตนกับจำเลยโดยจ่ายเงินสมทบตลอดมา ภายหลังนายชัยวัฒน์ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชัยวัฒน์ตามคำสั่งศาล และได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ ว่าเป็นภริยาและเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดไร้อุปการะ ขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพและเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ มีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณีตาย เพราะไม่มีทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๗๗ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ (๒) เนื่องจากมิได้จดทะเบียนสมรสกับลูกจ้าง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ ๙๘๙/๒๕๕๑ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ส่วนคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยที่ ๒๑๘/๒๕๕๑ ยืนตามคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์เป็นภริยาและได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดไร้อุปการะ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ ที่ รง.๐๖๒๕/๐๖๙๐๓ ที่ รง.๐๖๒๕/๒๑๗๑ และที่ รง.๐๖๒๕/๐๙๘๗๔ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๙๘๙/๒๕๕๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ ๒๑๘/๒๕๕๑
จำเลยให้การว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพียงประเด็นเดียวว่าเป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น ประเด็นว่าโจทก์เป็นภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับลูกจ้างผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่จึงถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ ที่ รง.๐๖๒๕/๐๖๙๐๓ ที่ รง.๐๖๒๕/๐๙๘๗๔ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๙๘๙/๒๕๕๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ ๒๑๘/๒๕๕๑
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์แต่งงานและอยู่กินฉันสามีภริยากับนายชัยวัฒน์ เมฆพัฒน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส นายชัยวัฒน์ทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทวงศ์สมุทรนาวี จำกัด ตำแหน่งกัปตันเรือสินค้ามาตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ ค่าจ้างเดือนละ ๔๗,๐๐๐ บาท นายชัยวัฒน์เป็นผู้ประกันตนโดยได้จ่ายเงินสมทบตลอดมาจนถึงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ นายชัยวัฒน์ประสบอุบัติเหตุจมน้ำถึงแก่ความตายที่ประเทศอินโดนีเซีย นายชัยวัฒน์ไม่มีทายาทอื่น โจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณี ชราภาพเนื่องจากผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ สำนักงานประกันสังคมเขตดังกล่าวมีคำสั่งประโยชน์ทดแทนว่าโจทก์ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จชราภาพกรณีตาย เนื่องจากไม่มีทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๗๗ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ (๒) เนื่องจากมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายชัยวัฒน์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และขอให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ประกันตนไม่อาจถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ตามมาตรา ๗๗ จัตวา จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามที่ขอ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากนายชัยวัฒน์ขณะยังมีชีวิตอยู่ก็เพียงทำให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากที่นายชัยวัฒน์ตายก็ยังมีรายได้พอเลี้ยงชีพได้ ถือไม่ได้ว่าได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจึงมีมติว่า โจทก์ไม่เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนายชัยวัฒน์ลูกจ้างผู้ตาย จึงมีมติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิในฐานะภริยา ตามมาตรา ๗๗ จัตวา (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มิได้ให้คำจำกัดความ คำว่า "ทายาท" ว่ามีความหมายอย่างใด จึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า "ทายาท" ในกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ และกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ ว่าด้วยมรดก ซึ่งบัญญัติถึงคำว่า "ทายาท" ไว้ในมาตรา ๑๖๕๙, ๑๖๐๓ และ ๑๖๒๙ โดยคำว่า "ทายาท" ในบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงเฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น คำว่า "ทายาท" ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา ๗๗ จัตวา จึงต้องหมายถึง เฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ความหมายของสามีหรือภริยาในบทบัญญัติดังกล่าวย่อมต้องหมายถึงสามีหรือภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชัยวัฒน์ โจทก์จึงไม่ใช่ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิที่จะได้เงินบำเหน็จชราภาพของนายชัยวัฒน์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นภริยาและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเฉพาะประเด็นที่ว่าโจทก์อยู่ในอุปการะของนายชัยวัฒน์หรือไม่เท่านั้น ดังนั้นในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างในฐานะภริยาหรือไม่จึงไม่มีการวินิจฉัย เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๕๓ โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นที่ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนายชัยวัฒน์ก่อนนายชัยวัฒน์ถึงแก่ความตายหรือไม่อันเป็นประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลย เท่านั้น ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในฐานะผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของนายชัยวัฒน์ผู้ถึงแก่ความตายหรือไม่ ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงมา จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ ที่ รง.๐๖๒๕/๐๖๙๐๓ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๙๘๙/๒๕๕๑ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในฐานะผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของนายชัยวัฒน์ผู้ถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๐ วรรคท้ายหรือไม่
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด