คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๕๙/๕๗
เจรจาให้ลาออก ลูกจ้างไม่ตกลง ขอเวลาตัดสินใจและหยุดงานไป นายจ้างแจ้งให้กลับเข้าทำงานตามปกติ ถือว่านายจ้างยังไม่มีเจตนาเลิกจ้าง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจขายเครื่องถ่ายเอกสาร ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดตั้งกองทุน เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๒,๘๔๕ บาท ต่อมาวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่มีความผิด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๕๙,๒๖๗.๕๐ บาท จ่ายค่าชดเชยจำนวน ๓๒๘,๔๕๐ บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน นับแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างจำนวน ๓,๘๔๑,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ นับแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน ๑๖๖,๐๗๐.๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจากจำเลยที่ ๑ เดือนละ ๑๙,๑๖๕ บาท ส่วนเงินอย่างอื่นเป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่โจทก์เพื่อจูงใจการขาย Sale Intensive ค่าเดินทางเหมาจ่าย Transportation ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ Car Insurance Premium ค่าโทรศัพท์ Telephone และเงินอื่น ๆ ซึ่งจำเลยที่ ๑ จ่ายให้เพื่อเป็นสวัสดิการและเพื่อจูงใจในการทำงานไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ในระหว่างทำงานให้กับจำเลยที่ ๑ โจทก์ทำงานโดยปราศจากประสิทธิภาพ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนโจทก์หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จึงส่งเรื่องของโจทก์ให้ผู้จัดการแผนกว่าจ้างและแรงงานสัมพันธ์เรียกโจทก์ไปพบเพื่อให้โจทก์พิจารณาถึงการทำงานของโจทก์เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ได้เสนอให้โจทก์ปรับปรุงการทำงานโดยเข้าแผนการพัฒนาคุณภาพในการทำงาน โจทก์ได้แจ้งว่าจะนำไปพิจารณาและจะแจ้งให้ฝ่ายจำเลยที่ ๑ ทราบในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ โจทก์ไม่เข้าไปทำงานและได้นำทรัพย์สินซึ่งมีสำหรับใช้ทำงานของจำเลยที่ ๑ ไปคืนโดยไม่แจ้งเหตุผล จำเลยที่ ๑ ได้ติต่อให้โจทก์กลับเข้าทำงานผ่านทางโทรศัพท์และทางจดหมาย แต่โจทก์ไม่ได้กลับเข้าทำงาน ถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายกรณีร้ายแรง และเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๑ จึงได้พิจารณาเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้อง นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบของจำเลยที่ ๑ จากจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนๆ ละ ๑๙,๑๖๕ บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเงินจูงใจการขาย (Sale Incentive) ตามผลงานที่โจทก์สามารถขายสินค้าได้ในแต่ละเดือน เงินค่าโทรศัพท์เดือนละ ๘๐๐ บาท เงินช่วยเหลือพิเศษเดือนละ ๖๐๐ บาท เงินค่าเบี้ยประกันภัยเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท และเงินค่าเดินทางเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ตามที่ปรากฏในใบแสดงรายได้หมาย จ.๑ จำเลยที่ ๑ กำหนดจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยที่ ๑ มีระเบียบการจ่ายเงินจูงใจการขายให้กับพนักงานตามแผนการจ่ายพนักงานขายหมาย ล.๗ จำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับพนักงานตามหนังสือเรื่องเงินช่วยเหลือหมาย ล.๘ และจำเลยที่ ๑ ได้มีระเบียบปฏิบัติการเบิกค่าเดินทางสำหรับรถยนต์และการใช้บัตรเติมน้ำมันซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ตามเอกสารหมาย ล.๙ ต่อมาวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ โจทก์ได้คืนทรัพย์สินให้กับจำเลยที่ ๑ ปรากฏตามรายการส่งคืนทรัพย์สินหมาย ล.๑๐ จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายคัทซุฮิโกะ ยานากาวา หรือนายมาซาชิ ฮอนดะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ในฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหารงานทั่วไปของจำเลยที่ ๑ ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหารงานทั่วไปมีนางอรุณวดี กิตติรัตนาภรณ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ในตำแหน่งผู้จัดการส่วนการจัดการทรัพยากรบุคคลมีนายผดุงเกียรติ สรุจิกำจรวัฒนะ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งและในตำแหน่งผู้จัดการแผนกสรรหาและแรงงานสัมพันธ์มีนายวุฒิพงศ์ แก้วหิรัญ เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายวุฒิพงศ์ได้แนะนำให้โจทก์ลาออก โจทก์ได้ขอเวลาในการตัดสินใจว่าจะลาออกหรือไม่ แต่เมื่อถึงวันให้คำตอบโจทก์ตัดสินใจไม่ลาออกและไม่กลับเข้าไปทำงานให้กับจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงานแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมาจนถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ แต่โจทก์ไม่ได้กลับเข้าไปทำงานแต่อย่างใด และวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ววินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายคัทซุฮิโกะ ยานากาวาหรือนายมาซาชิ ฮอนดะ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้มอบหมายให้นายวุฒิพงศ์หรือนายผดุงเกียรติ ให้มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่นายวุฒิพงศ์เลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้าง การที่นายวุฒิพงศ์ได้แนะนำให้โจทก์ลาออกแต่โจทก์ขอเวลาตัดสินใจและไม่กลับเข้าทำงานอีกจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกับโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้
คดีมีปัญหาว่าพฤติการณ์ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นกรณีที่นายวุฒิพงศ์และนายผดุงเกียรติเลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าการที่ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายวุฒิพงศ์ได้เรียกโจทก์เข้าไปพบในห้องประชุมและแจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องการให้โจทก์ทำงานอีกต่อไป หากโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกเองจะทำให้โจทก์ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของนายจ้างและทอคำหนัก ๑ บาท โดยนายผดุงเกียรติได้นำแบบฟอร์มใบลาออกให้โจทก์และขอให้โจทก์คืนคอมพิวเตอร์พกพา บัตรพนักงาน และบัตรประกันสุขภาพ จากนั้นนายวุฒิพงศ์ได้แจ้งตัดพาสเวิร์ดในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อไม่ให้โจทก์เข้าระบบฐานข้อมูลของจำเลยที่ ๑ ได้จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์แล้วในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ นั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายวุฒิพงศ์และนายผดุงเกียรติได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับมอบหมายจากนายคัทซุฮิโกะ ยานากาวา หรือนายมาซาชิ ฮอนดะ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้าง ส่วนการกระทำที่นายวุฒิพงศ์ได้แนะนำให้โจทก์ลาออก แต่โจทก์ขอเวลาในการตัดสินใจ จากนั้นโจทก์ไม่กลับเข้าทำงานให้กับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและโทรศัพท์แจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงานแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมาจนถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ แต่โจทก์ไม่กลับเข้าทำงาน จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า การที่นายวุฒิพงศ์ได้เรียกโจทก์ไปพบในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ และแนะนำให้โจทก์ลาออกแต่โจทก์ได้ขอเวลาในการตัดสินใจว่าจะลาออกหรือไม่ จากนั้นในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายวุฒิพงศ์ได้โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์กลับเข้าทำงาน และจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ไม่กลับเข้าทำงานนั้น ย่อมเป็นการแสดงว่าในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ ยังไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์ ทั้งยังเห็นว่าโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ อีกต่อไปจึงเรียกให้โจทก์กลับทำงานในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงมิได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประการอื่นอีกต่อไปเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด