คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๓๓/๕๗
ละทิ้งหน้าที่ แอบนอนหลับในเวลาทำงาน ถือเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ เลิกจ้างเป็นธรรม
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่คุมเครื่องจักร ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๗,๐๘๐ บาท และค่าครองชีพเดือนละ ๓๐๐ บาท รวมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น ๑๗,๓๘๐ บาท ต่อมาวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด เมื่อโจทก์มีอายุการทำงานอยู่กับจำเลยเกินกว่า ๓ ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๑๐๔,๒๘๐ บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๓๔,๗๖๐ บาท โจทก์ทำงานมาแล้วครบ ๕ ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐ วัน โจทก์ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเพียง ๕ วัน ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีอีก ๕ วัน คิดเป็นเงิน ๓,๔๗๖ บาท นอกจากนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงขอเรียกค่าเสียหาย ๑๐๔,๒๘๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๔,๗๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓,๔๗๖ บาท ค่าชดเชย ๑๐๔,๒๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จจ่ายค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๑๐๔,๒๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรในเดือน มีนาคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่าโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ออกไปแอบนอนหลับในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรหลายครั้ง ทำให้เครื่องจักรเดินโดยไม่มีการควบคุม เครื่องจักรอาจทำงานผิดพลาดและก่อความเสียหายต่อชิ้นงาน อันอาจจะเป็นผลให้ชิ้นงานไม่เสร็จตามกำหนดส่งลูกค้า ย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งในด้านทรัพย์สินและชื่อเสียงของจำเลย จำเลยถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับในการทำงาน จำเลยสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีครบถ้วนแล้ว ไม่มีวันหยุดเหลือตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควรแห่งการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษา ให้จำเลยจ่ายจ่ายค่าชดเชย ๑๐๔,๒๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๗๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๔,๗๖๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓,๔๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๗,๓๘๐ บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๓๐ วันของเดือน เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๙ ผู้จัดการฝ่ายจัดทำแม่พิมพ์ของจำเลยตรวจสอบพบว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติงานอยู่หน้าเครื่องจักรซึ่งตามปกติต้องอยู่ตลอดเวลางานของโจทก์ผลิตได้น้อยกว่าพนักงานคนอื่น เมื่อสอบถามพนักงานกะกลางคืนทั้งหมด ๖ คน รวมทั้งโจทก์ยอมรับว่าแอบไปนอนหลับ แต่โจทก์ปิดไฟหน้าเครื่องจักรที่รับผิดชอบ แสดงว่าตั้งใจที่จะแอบไปนอน ถือว่ามีความผิดร้ายแรงกว่าพนักงานคนอื่น จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยยังอยู่ภายในบริษัทและไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหาย ยังไม่ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือ ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยบกพร่องต่อหน้าที่หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และเคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน การทำผิดมิได้รุนแรง พฤติการณ์ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพียงคนเดียวเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.๗ ข้อ ๑๐.๖.๑๘ จะระบุว่าการละทิ้งงานของตนเองในหน้าที่อาจถูกพิจารณาให้ออกจากงานได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดมาตรการลงโทษพนักงานที่กระทำผิดเท่านั้น ส่วนจะเป็นความผิดกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำผิด ตลอดจนความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใดประกอบด้วยการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่หนีไปนอนระหว่างเวลาทำงาน แม้เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงการทำงานไปบ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ และไม่ได้ออกไปภายนอกบริษัท ทั้งไม่ปรากฏว่าการกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือในการกระทำดังกล่าวมาก่อนการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ อย่างไรก็ตามการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่การงานไปเสีย ซึ่งจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวอันเป็นความผิดตามข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.๗ ก็เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในส่วนของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ชอบ เพราะโจทก์อ้างลอยๆ ว่าเหลือวันหยุด ๕ วัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใบลาหยุดมาแสดง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอายุงานครบ ๓ ปี ขึ้นไป จึงมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้ปีละ ๑๐ วัน โจทก์พักไปแล้ว ๕ วัน จึงเหลือสิทธิลาหยุดพักผ่อนได้อีก ๕ วัน ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์เกี่ยวกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด