คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๕๖๔/๕๗
ข้อบังคับ ระบุให้ผู้บังคับบัญชาเหนือกว่ามีอำนาจแก้ไข เพิ่มโทษ หรือลดโทษได้ การยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิมและให้ลงโทษใหม่หนักกว่าเดิมจึงสามารถทำได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ มีผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของจำเลย และเป็นผู้กำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งจดทะเบียนแล้ว ซึ่งเป็นนิติบุคคลเพื่อสวัสดิการพนักงานของจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายผดุงศักดิ์ กสิกรรม ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาในคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๔/๒๕๔๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๘๙๑/๒๕๔๘ นายผดุงศักดิ์เป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำเลยโดยสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี มีคำสั่งที่ ๗๓๒/๒๕๔๐ ตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีนายผดุงศักดิ์ซึ่งเป็นพนักงานการเงิน ๔ งานจัดเก็บรายได้ ๔ สำนักงานประปาระยอง สำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี รหัสประจำตัว พ.๑๗๐๙ อัตราเงินเดือน ๑๙,๑๑๐ บาท กรณีจัดเก็บเงินค่าประปาจากผู้ใช้น้ำแล้วไม่นำส่งจนถูกทักท้วงจากหัวหน้างานไม่นำส่ง ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการสอบสวนแล้วเห็นว่าเป็นกรณีหลงลืมมิใช่ความผิดร้ายแรงจึงลงโทษตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน ปรากฏตามคำสั่งสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรีที่ ๔๖/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย ผู้บังคับบัญชาของนายผดุงศักดิ์ได้ทำการตัดเงินเดือนตามคำสั่งที่ ๔๖/๒๕๔๑ เป็นที่เรียบร้อยแล้วถือว่าความผิดของนายผดุงศักดิ์ในกรณีดังกล่าวได้ถูกพิจารณาและลงโทษเป็นการเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยย่อมไม่มีอำนาจจะนำกรณีดังกล่าวมาทำการสอบสวนและลงโทษซ้ำอีก ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ ๕๘๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๑ ให้ทำการสอบสวนวินัยนายผดุงศักดิ์ในกรณีเดียวกันและมีคำสั่งที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ ไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงาน และนายผดุงศักดิ์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๗ การลงโทษพนักงานของจำเลยที่ได้กระทำผิดในแต่ละครั้งนั้นจำเลยมีอำนาจกระทำได้เพียงครั้งเดียวโดยไม่อาจนำมาพิจารณาลงโทษซ้ำได้อีก การที่จำเลยมีคำสั่งไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงานตามคำสั่งที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ของจำเลยจึงเป็นการลงโทษซ้ำกับคำสั่งที่ ๔๖/๒๕๔๑ ซึ่งเป็นการลงโทษและมีการบังคับตามคำสั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การลงโทษไล่ออกตามคำสั่งที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ย่อมไม่มีผลเป็นการลงโทษตามกฎหมาย นายผดุงศักดิ์จึงยังคงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยและจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นให้แก่นายผดุงศักดิ์ตามสิทธิของพนักงานดังต่อไปนี้ เงินเดือนๆ ละ ๑๙,๑๑๐ บาท นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๓ เป็นเวลา ๓ ปี ๑๐ เดือน เป็นจำนวนเงิน ๘๗๙,๐๐๐ บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ที่จำเลยมีอำนาจกำกับดูแลจำนวน ๓๒๓,๘๒๐ บาท เงินสมทบซึ่งจำเลยจ่ายให้ร้อยละ ๙ เป็นร้อยละ ๑๐ จำนวน ๘๑,๔๐๘.๖๐ บาท เงินสะสมของลูกจ้างซึ่งหักจากค่าจ้างร้อยละ ๓ ถึง ๙ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๒๕,๗๙๘.๕๐ บาท อัตราผลตอบแทนของกองทุนจำนวน ๑๑๗,๓๘๙.๒๑ บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๔๒๗,๔๗๖.๓๐ บาท (ที่ถูกเป็น ๑,๔๒๗,๔๗๖.๓๑ บาท) เมื่อนายผดุงศักดิ์ถึงแก่ความตาย เงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดจึงตกเป็นทรัพย์มรดก โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายผดุงศักดิ์ย่อมมีสิทธิติดตามรวบรวมเรียกร้องเพื่อนำมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเดือนจำนวน ๘๗๙,๐๖๐ บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน ๓๒๓,๘๒๐ บาท เงินสมทบซึ่งจำเลยจ่ายให้ร้อยละ ๙ เป็นร้อยละ ๑๐ จำนวน ๘๑,๔๐๘.๖๐ บาท เงินสะสมของลูกจ้างซึ่งหักจากค่าจ้างจำนวน ๒๕,๗๙๘.๕๐ บาท อัตราผลตอบแทนของกองทุนจำนวน ๑๑๗,๓๘๙.๒๑ บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๔๒๗,๔๗๖.๓๐ บาท ( ที่ถูกเป็น ๑,๔๒๗,๔๗๖.๓๑ บาท ) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายผดุงศักดิ์ กสิกรรม เคยเป็นพนักงานเก็บเงินประจำสำนักงานประปาระยอง สำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลย แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกระทำการทุจริตต่อหน้าที่นำเงินที่ตนเก็บจากผู้ใช้น้ำของจำเลยไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ผู้อำนวยการสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นได้มีคำสั่งที่ ๗๓๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อมาผู้อำนวยการสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี มีคำสั่งที่ ๔๖/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ลงโทษตัดเงินเดือนนายผดุงศักดิ์จำนวน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การถอดถอน ระเบียบวินัย การลงโทษและการอุทธรณ์ การลงโทษของพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓๗ (๓) และข้อ ๔๖ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคจึงมีคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๘๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๑ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายผดุงศักดิ์ และต่อมามีคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ ลงโทษไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงานซึ่งไม่เป็นการลงโทษซ้ำ เพราะคำสั่งลงโทษของผู้อำนวยการสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังไม่ได้มีการปฏิบัติจริง นายผดุงศักดิ์ยังมิได้ถูกตัดเงินเดือน คำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ ที่ไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงานเป็นคำสั่งทางปกครอง นายผดุงศักดิ์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคแล้ว ซึ่งต่อมาประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคมีความเห็นยืนให้ลงโทษไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงานและได้แจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษให้นายผดุงศักดิ์ทราบแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง นายผดุงศักดิ์มิได้ใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งจึงไม่อาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงาน นายผดุงศักดิ์พ้นจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ เนื่องจากถูกไล่ออก จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนจากจำเลยนับตั้งแต่วันถูกไล่ออก สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้วส่วนที่เป็นสิทธิของนายผดุงศักดิ์ นายผดุงศักดิ์ได้รับจากจำเลยไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓ ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบนายผดุงศักดิ์ไม่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ ๑๐.๗ (๓) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายผดุงศักดิ์ กสิกรรม ขณะนายผดุงศักดิ์เป็นพนักงานของจำเลยได้กระทำผิดวินัยกรณีเก็บเงินค่าน้ำประปา จากผู้ใช้น้ำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยมีคำสั่งนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ที่ ๔๖/๒๕๔๑ ให้ลงโทษตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อผู้สั่งลงโทษได้รายงานโทษไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแล้ว ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๘๘/๒๕๔๑ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว มีคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงาน และประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคได้พิจารณาอุทธรณ์ของนายผดุงศักดิ์แล้วให้ยกอุทธรณ์แล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแรงงานมิได้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่จะต้องฟ้องต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๒ การสั่งลงโทษของจำเลยให้ไล่ออกเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า การที่สำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี มีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนเป็นคำสั่งที่ยังไม่เป็นที่สุด การลงโทษไล่ออกจึงชอบแล้ว นายผดุงศักดิ์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนนับแต่ถูกไล่ออก ส่วนการเรียกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินดังกล่าวได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษนายผดุงศักดิ์ กสิกรรม ตามคำสั่งสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ที่ ๔๖/๒๕๔๑ โดยการตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน เป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้วมีคำสั่งการประปาส่วนภูมิภาคที่ ๕๑๗/๒๕๔๓ ไล่นายผดุงศักดิ์ออกจากงาน เป็นการลงโทษซ้ำ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การถอดถอน ระเบียบวินัย การลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๔๖ ระบุว่า "เมื่อผู้มีอำนาจลงโทษได้สั่งลงโทษแล้วต้องเสนอรายงานการลงโทษต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้ว่าการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ว่าการผู้สั่งลงโทษ" วรรคสอง "ในกรณีผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษซึ่งมีตำแหน่งเหนือผู้สั่งลงโทษ เห็นว่าการลงโทษหรือการดำเนินการทางวินัยนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวมีอำนาจสั่งลงโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ หรือยกโทษได้ แต่ถ้าจะเพิ่มโทษแล้วโทษที่สั่งเพิ่มขึ้นรวมกับที่สั่งไว้เดิมต้องไม่เกินอำนาจของผู้สั่งใหม่นั้น" ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะที่นายผดุงศักดิ์เป็นพนักงานของจำเลยได้กระทำผิดวินัย และผู้อำนวยการสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ได้มีคำสั่งลงโทษตามคำสั่งสำนักงานประปาเขต ๑ ชลบุรี ที่ ๔๖/๒๕๔๑ โดยการตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน แล้วจึงรายงานให้ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบ จึงเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคเห็นว่าการลงโทษโดยการตัดเงินเดือน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา ๔ เดือน ไม่เหมาะสม ก็มีอำนาจที่จะดำเนินการทางวินัยและมีคำสั่งลงโทษใหม่ให้เหมาะสมกับความผิดวินัยได้ตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๔๖ วรรคสอง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการตรวจสอบดุลพินิจในการลงโทษภายในองค์กรและเป็นการยกเลิกคำสั่งลงโทษเดิมแล้วเพิ่มโทษ มิใช่เป็นการลงโทษซ้ำซ้อนดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด และตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังมาว่านายผดุงศักดิ์ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งจำเลยสามารถลงโทษไล่ออกได้โดยชอบด้วยข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๓๗ (๓) ที่ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อมาว่า แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลย แต่โดยภาพรวมจำเลยมีอำนาจกำกับควบคุมอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายผดุงศักดิ์ได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๗ บัญญัติให้กองทุนที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล และตามมาตรา ๒๓ บัญญัติให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการและจัดการสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างจำเลยคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างของจำเลย โดยจำเลยไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ ที่ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด