คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๗๔/๕๘
ลงโทษพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างและเตือนในคราวเดียวกันได้ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ แผนกซ่อมบำรุงเครื่องจักร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๔,๒๕๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๔๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๒,๑๒๕ บาท เงินโบนัส ๘,๐๘๓.๓๓ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ทั้งนี้ดอกเบี้ยทุกจำนวนให้นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยปิดประกาศที่บอร์ดว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นเวลา ๑ เดือน
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๔,๒๕๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๔ และ ๒๙ ของทุกเดือน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์มอบหมายงานให้โจทก์ออกแบบอุปกรณ์วัดความสูงของเครื่องจักร แต่โจทก์มิได้ทำตามและใช้กริยาวาจาที่ก้าวร้าวท้าทายผู้บังคับบัญชา เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งจำเลยได้เคยมีหนังสือเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว จำเลยจึงหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดร้ายแรงและเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน มีเหตุสมควรเลิกจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัสและค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๔๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ ตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์แผนกซ่อมบำรุงเครื่องจักร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๔,๒๕๐ บาท นายสมชาย เพชรพิรุณ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุงเครื่องจักรเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ นายปรีชา ผ่องประเสริฐ เป็นผู้บังคับบัญชาของนายสมชายเคยได้รับรายงานความประพฤติของโจทก์จากนายสมชายว่าโจทก์มีความประพฤติก้าวร้าว หยาบคาย ตามเอกสารหมาย ล.๓ และมีการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ตามเอกสารหมาย ล.๑๒ จำเลยจึงลงโทษโจทก์ด้วยการพักงาน ๗ วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและออกหนังสือเตือนด้วย ตามเอกสารหมาย จ.๑ หลังจากนั้นนายปรีชายังได้รับรายงานเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์เรื่องมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา ตามเอกสารหมาย ล.๑๘ ผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์โต้เถียงปฏิเสธไม่ทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายและใช้วาจาก้าวร้าว ท้าทายผู้บังคับบัญชาให้จ้างออก รายละเอียดตามบันทึกสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.๑๙ ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.๒๕ โจทก์มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตามเอกสารหมาย ล.๒๒ และโจทก์สละคำขอให้จำเลยปิดประกาศที่บอร์ดว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นเวลา ๑ เดือน แล้ววินิจฉัยว่า หนังสือเตือนที่จำเลยนำมาอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ย่อมสิ้นผลลง จึงไม่อาจนำมาอ้างเลิกจ้างโจทก์ได้อีก และการกระทำของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรงเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.๒๒ ข้อ ๖.๔ กำหนดว่า "พนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด ถ้าพนักงานฝ่าฝืน/กระทำผิดวินัยของบริษัทจะถูกลงโทษตามลักษณะความผิดหรือความหนักเบาของการกระทำ ความผิด การลงโทษจะเป็นไปตามข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อรวมกันก็ได้" การที่โจทก์กระทำความผิดครั้งแรกและจำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการให้พักงาน ๗ วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างและไม่ให้โจทก์กระทำผิดซ้ำอีก หากยังกระทำผิดวินัยไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยจะพิจารณาลงโทษขั้นปลดออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือตักเตือนด้วย เป็นการใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจบริหารจัดการของจำเลยที่จะลงโทษโจทก์หลายข้อรวมกันได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยลงโทษพักงานโจทก์และในขณะเดียวกันในคำสั่งลงโทษก็ยังมีคำเตือนอยู่ด้วย หาทำให้หนังสือเตือนนั้นสิ้นผลไปด้วยโทษพักงานที่โจทก์ได้รับไปแล้วไม่ เมื่อโจทก์แสดงกิริยาวาจาก้าวร้าว และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาจนถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๑ ต่อมาโจทก์แสดงกิริยาวาจาก้าวร้าว หยาบคาย และท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาอีก อันเป็นการกระทำผิดลักษณะเดียวกันกับในหนังสือเตือน และยังไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่กระทำผิด การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนของค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด