คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕/๕๘
จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
โจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๔,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้างจ่าย ๘,๐๐๐ บาท ค่าล่วงเวลา ๒,๙๕๐ บาท ค่าทำงานในวันหยุด ๓,๐๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๗,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ๙๐,๐๐๐ บาท และเงินประกันการทำงาน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีผลงานทำให้จำเลยขาดทุน โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหลายครั้ง เช่น แจ้งประวัติการศึกษาว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรีอันเป็นเท็จในการสมัครงาน หากจำเลยทราบแต่แรกว่าจทก์มิได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีก็จะไม่รับโจทก์เข้าทำงาน จำเลยทำสัญญาจ้างโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของโจทก์ สัญญาจ้างตกเป็นโมฆียะ จำเลยขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวและมีผลให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้าง นอกจากนี้โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงโดยการนำความลับของจำเลยไปเปิดเผยแก่คู่แข่งทางการค้า ฝ่าฝืนนโยบายการขายของจำเลยหลายครั้ง บกพร่องต่อหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นเหตุให้มีรถยนต์ค้างจำหน่าย ๖ ถึง ๘ เดือน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงว่าจะจ่ายค่าคอมมิสชันจากการขายรถยนต์ให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ส่วนค่าจ้าง ๑,๐๐๐ บาท จำเลยหักไว้เพราะโจทก์ไม่ส่งรายงานการปฏิบัติงานตามนโยบายของจำเลย โจทก์มีตำแหน่งบริหารจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด โจทก์เพิ่งทำงานกับจำเลยมาครบ ๑ ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ส่วนเงินประกันการทำงานนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย หากไม่พบความเสียหายจำเลยจะคืนให้โจทก์ โจทก์ไม่น่าขอใบสำคัญแสดงการทำงานจากจำเลยเพราะโจทก์ไม่มีผลงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๙๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างค้างจ่าย ๘,๐๐๐ บาท ค่าทำงานในวันหยุด ๓,๐๐๐ บาท และเงินประกันการทำงาน ๕๐,๐๐๐ บาท รวม ๑๕๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้มีรถยนต์ค้างจำหน่ายเกิน ๑๘๐ คัน (ที่ถูก ๑๘๐ วัน) ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ขายรถยนต์ให้แก่เพื่อนของโจทก์โดยมอบส่วนลดและของแถมจนทำให้จำเลยขาดทุนจากการขายรถยนต์คันดังกล่าวอันเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๓ และข้อ ๒๘ ทั้งโจทก์มิได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่กลับอ้างในการสมัครงานว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปล่อยให้มีรถยนต์ค้างจำหน่ายเกิน ๑๘๐ คัน (ที่ถูก ๑๘๐ วัน) นั้น โจทก์ทำงานเต็มความสามารถแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากปัจจัยภายนอกซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของโจทก์ การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยในกรณีที่ไม่ร้ายแรง ส่วนที่โจทก์ขายรถยนต์ให้แก่เพื่อนของโจทก์นั้น โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารจึงย่อมรู้รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนกับของแถมและราคาขายของรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ให้แก่เพื่อนของโจทก์ไปในราคาต่ำกว่าต้นทุนทำให้จำเลยขาดทุนจากการขายรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว แต่การที่โจทก์ขายรถยนต์ดังกล่าวในราคาเท่ากับที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เคยขายให้แก่ลูกค้า โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับกรรมการบริษัทจำเลยหรือผู้บังคับบัญชาอันเป็นมูลเหตุชักจูงใจที่จะกลั่นแกล้งจำเลยให้ได้รับความเสียหายหรือกระทำโดยทุจริต จึงฟังไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากการที่โจทก์จงใจที่จะกลั่นแกล้งจำเลยหรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แต่ทั้งนี้การไม่ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนถืออเป็นข้อปฏิบัติทั่วไปที่ลูกจ้างจะต้องรู้ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าต้นทุนโดยไม่ปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ ๑๐ ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๓ และข้อ ๒๘ แล้ว ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจะต้องตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อนโดยจะเลิกจ้างทันทีไม่ได้ ส่วนการแจ้งประวัติการศึกษาอันเป็นเท็จในการสมัครงานนั้น แม้ได้ความตามเอกสารหมาย ล.๑๕ ว่าโจทก์เคยศึกษาระดับปริญญาตรีจริงและพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาไปก่อน แต่โจทก์แสดงประวัติการทำงานกับนายจ้างอื่นมาก่อนประกอบกับโจทก์ทำงานกับจำเลยมาประมาณ ๑ ปีเศษ และสามารถปฏิบัติงานได้การที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานจึงไม่เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลอันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง ทั้งจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงนี้ไว้ในหนังสือเลิกจ้างและไม่ได้แจ้งเหตุดังกล่าวให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้างจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในภายหลังได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคท้าย โจทก์ไม่ได้นำความลับของจำเลยไปเปิดเผยแก่คู่แข่งทางการค้าของจำเลยแต่อย่างใด แต่โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนค่าจ้างค้างจ่ายนั้นน่าเชื่อว่าจำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์ ๗,๐๐๐ บาท จริง ทั้งค่าจ้างที่หักไว้ ๑,๐๐๐ บาท ก็ปราศจากข้ออ้างตามกฎหมาย โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่น่าเชื่อว่าจำเลยสั่งให้โจทก์มาทำงานในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒ และวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันหยุด ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ ๕.๔ (ที่ถูกหมวดที่ ๗ ว่าด้วยวันลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ ๕.๔) กำหนดให้ไม่สามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีถัดไปหรือจ่ายค่าจ้างแทนได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ทำงานผิดพลาดหลายครั้ง จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยจะเรียกเงินประกันการทำงานได้ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๕๑ ในการขายรถยนต์ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการและมีสิทธิได้รับค่าคอมมิสชัน ส่วนโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าคอมมิสชันจากจำเลย เมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ชอบจะได้รับใบสำคัญแสดงการทำงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๕ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าทำงานในวันหยุด กับคืนเงินประกันการทำงาน และออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าต้นทุนให้แก่เพื่อนของโจทก์เป็น การ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารจึงย่อมรู้รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนและราคาขายของรถยนต์ แต่กลับขายรถยนต์ให้แก่เพื่อนของโจทก์ในราคาที่ต่ำกว่า ต้นทุน ทั้งได้ความว่าโจทก์เป็นผู้สนับสนุนให้เพื่อนของโจทก์ร้องเรียนกล่าวหาบริษัทจำเลยไปยังบริษัทเมอซิเดสเบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด