คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๘๙ - ๙๙๙๙/๕๗
ข้อตกลงรับเงินและยินยอมปลดหนี้ให้แก่กัน ถือเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทแม้จะทำขึ้นก่อนคำสั่งเลิกจ้างมีผลใช้บังคับ
โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จดทะเบียน ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้าง วันที่ทำสัญญาจ้าง ตำแหน่งและค่าจ้างอัตราสุดท้ายปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๗ ของเดือน วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยออกหนังสือชี้แจงลูกจ้างว่าจำเลยไม่มีนโยบายปิดสำนักงานประจำประเทศไทย วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยประกาศให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานเพื่อเป้าหมายที่ดีขึ้นในระยะเวลา ๓ ปี ข้างหน้า วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ อ้างเหตุว่าจำเลยต้องการลดขนาดกิจการให้เล็กลง โจทก์ทั้งสิบเอ็ดถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดเป็นการเลือกเลิกจ้างลูกจ้างบางแผนก ไม่มีหลักเกณฑ์ วิธีการที่แน่นอนเป็นธรรม ไม่ประกาศให้ลูกจ้างทราบ จำเลยไม่ขาดทุนถึงขนาดต้องเลิกจ้างลูกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้รับความเสียหาย จำเลยตกลงจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างเป็น ๒ กรณี กรณีที่ ๑ ตามประกาศของจำเลยปี ๒๕๕๑ หากจำเลยมีผลประกอบการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัสเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน เมื่อรวมกับผลประกอบการของบริษัทในเครือทั้งหมดเป็นอย่างน้อย กรณีที่ ๒ จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานก่อนเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ เท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน โดยไม่มีเงื่อนไขในเดือนธันวาคมของทุกปี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีสิทธิได้รับเงินโบนัสในปี ๒๕๕๓ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินโบนัสเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด รายละเอียดปรากฏตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจหาแหล่งจัดซื้อสินค้าเครื่องอุปโภค เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงตรวจสอบคุณภาพและปริมาณสินค้าที่สำนักงานใหญ่สั่งซื้อหรือจ้างผลิตในประเทศไทย รายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเครื่องนุ่มห่ม เครื่องประดับ เครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ทราบ นางสาวอลิสัน อลิซาเบธ กอร์แกน เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานในประเทศไทยจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๗ ของเดือนวันทำสัญญาจ้าง ตำแหน่งงานสุดท้าย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน จำเลยไม่ได้ประกันว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้เท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน เงินโบนัสจ่ายตามผลประกอบการของจำเลยในแต่ละปี จำเลยกำหนดเป้าการขายทุกปี ให้สำนักงานในประเทศไทย จำเลยแจ้งผลประกอบการและเงินโบนัสที่จะจ่ายให้ลูกจ้างทราบผลประกอบการช่วงปี ๒๕๕๒/๒๕๕๓ (ปีที่ผ่านมา) และปี ๒๕๕๓/๒๕๕๔ (ปีนี้) ไม่เป็นไปตามเป้า จำเลยจึงไม่จ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดในอัตราเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน แต่ในปีที่ผ่านมาจำเลยจ่ายเป็นเงินตอบแทนพิเศษเท่ากับค่าจ้าง ๐.๕ เดือน สำหรับปีนี้จำเลยจ่ายเงินตอบแทนพิเศษเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน ให้ลูกจ้าง เพื่อปรับสภาพธุรกิจของจำเลยให้สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจจำเลยจึงลดขนาดธุรกิจของสำนักงานในประเทศไทยโดยรวมฝ่ายการตลาดในประเทศไทยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สำนักงานที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงดูแล คงเหลือลูกจ้างจำนวนเล็กน้อยในฝ่ายเทคนิคและฝ่ายสนับสนุนการทำงานของฝ่ายควบคุมคุณภาพหรือประกันคุณภาพในประเทศไทย โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเคยสอบถามการเลิกจ้างจากจำเลย วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง ๓๓ คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดด้วย ให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุจำเป็นอันสมควร เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติปราศจากหลักเกณฑ์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย เงินพิเศษให้เปล่าตามดุลพินิจของจำเลยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้ว วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยจ่ายเงินอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดนั้น โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยทำบันทึกร่วมกันว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยจะไม่เรียกร้องสิทธิใดซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่รับเงินตามบันทึกนี้อีก แต่ละฝ่ายยอมปลดหนี้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่กรณีโจทก์ทั้งสิบเอ็ดสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย บันทึกดังกล่าวจึงมีผลผูกพัน โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเรียกร้องเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยไม่ได้ จำเลยจ่ายเงินพิเศษให้เปล่าแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเท่ากับจำนวนเงินโบนัสตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเนื่องจากกำไรจากผลประกอบการของจำเลยลดลงตามกราฟสรุปยอดขายและหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๒ จำเลยจ่ายเงินโบนัสตามผลประกอบการทุกสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสละประเด็นข้อพิพาทเรื่องเงินโบนัส
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙ จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้างมีตำแหน่งและได้รับค่าจ้างตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ (ที่ถูกมีผลเป็นการเลิกสัญญาในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) อ้างว่าจำเลยต้องการลดขนาดกิจการ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยจ่ายเงินเดือน (ค่าจ้าง) ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ค่าชดเชย เงินพิเศษให้เปล่าตามดุลพินิจของจำเลยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยตกลงทำบันทึกรับเงิน และปลดหนี้ไว้ตามเอกสารหมาย ล.๑๙ ยอดขายของจำเลยลดลงทุกปี จำเลยต้องปรับลดขนาดองค์กรและธุรกิจให้สอดคล้องกับความผันแปรทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงดำเนินกิจการโดยลดจำนวนลูกจ้างลงบางส่วน แล้ววินิจฉัยว่า ข้อความตามเอกสารหมาย ล.๑๙ เป็นการตกลงเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้อง การบังคับ และเหตุในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยในช่วงก่อนหน้าทำเอกสารหมาย ล.๑๙ ไม่ใช่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างตกลงสละสิทธิเรียกร้องครอบคลุมถึงการสละสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยเลือกเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิจารณาถึงยอดขายที่ลดลงจนจำเลยต้องปรับลดขนาดองค์กร ประกอบกับอายุ ระยะเวลาการทำงาน ความเดือดร้อน และค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้วจึงกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๓๗,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๔๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๕๖,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๔ เป็นเงิน ๘๖,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๖ เป็นเงิน ๘๔,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๗ เป็นเงิน ๗๒,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๘ เป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๙ เป็นเงิน ๙๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๑๐ เป็นเงิน ๑๐๑,๐๐๐ บาท และให้โจทก์ที่ ๑๑ เป็นเงิน ๑๒๔,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยมีลูกจ้าง ๕๐ คน วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยแจ้งเลิกจ้างลูกจ้าง ๓๓ คน ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสิบเอ็ดด้วย โดยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานวันสุดท้ายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ และสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยจ่ายเงินเดือน (ค่าจ้าง) ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดยังไม่ได้ใช้สิทธิ ค่าชดเชย เงินพิเศษให้เปล่าตามดุลพินิจของจำเลยมีจำนวนเท่ากับเงินโบนัสตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเอ็ด คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๕ และ ล.๑ ถึง ล.๑๙
มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยตามบันทึกการชำระเงินเลิกจ้างและการร่วมกันปลดหนี้เอกสารหมาย ล.๑๙ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดให้มีผลสิ้นสุดการจ้างในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกการชำระเงินเลิกจ้างและร่วมกันปลดหนี้ตามเอกสารหมาย ล.๑๙ ระบุข้อความว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับแคชเชียร์เช็คจากจำเลยที่จ่ายเพื่อการเลิกจ้างประกอบด้วยเงินเดือน (ค่าจ้าง) ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ค่าชดเชย เงินพิเศษให้เปล่าตามดุลพินิจของจำเลย และมีข้อความว่า ".....ต่างตกลงร่วมกันปลดหนี้ ยกหนี้ให้ และตลอดไปยอมให้แต่ละฝ่ายหลุดพ้นจากความผูกพันและสิทธิเรียกร้อง การบังคับ และเหตุในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นหรือที่กล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นระหว่างเราสองฝ่ายในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึง แต่ไม่จำกัดถึงกรณีอันเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการจ้างแรงงาน.....และแต่ละฝ่ายต่างได้ลงลายมือชื่ออย่างเป็นอิสระและตามที่เป็นจริง ซึ่งมีผลบังคับในทันทีได้ลงลายมือชื่อให้ถือเอาหนังสือบอกเลิกจ้างฉบับลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารนี้" ในขณะที่ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.๑๙ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทราบดีแล้วว่าจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้วตามหนังสือลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ เอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ แม้จะให้มีผลเป็นการเลิกสัญญากันในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แต่ในขณะลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.๑๙ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการเลิกจ้างเนื่องจากกำไรที่ลดลงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อเอกสารหมาย ล.๑๙ ระบุชัดแจ้งว่าหนังสือบอกเลิกจ้างลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ ตามเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกการชำระเงินเลิกจ้างและการร่วมกันปลดหนี้เอกสารหมาย ล.๑๙ และระบุว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดปลดหนี้ให้จำเลยหลุดพ้นจากความผูกพันและสิทธิเรียกร้องในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ หมายถึงโจทก์ทั้งสิบเอ็ดปลดหนี้ให้จำเลยหลุดพ้นจากความผูกพันและสิทธิเรียกร้องในการดำเนินคดีที่เกิดจากหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ นั้นเอง จึงเป็นกรณีโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ในขณะลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.๑๙ หรือที่จะมีขึ้นอันเกิดจากการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยนอกจากจำเลยยอมจ่ายเงินที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบด้วยค่าจ้างประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดยังไม่ได้ใช้สิทธิ และค่าชดเชยแล้ว จำเลยยังยอมจ่ายเงินพิเศษให้เปล่ามีจำนวนเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน เป็นจำนวนเท่ากับเงินโบนัสที่จะถึงกำหนดจ่ายเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งในขณะเลิกสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดยังไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส ส่วนโจทก์ทั้งสิบเอ็ดก็ยอมปลดหนี้ให้จำเลยหลุดพ้นจากความผูกพันและสิทธิเรียกร้องในการดำเนินคดีอันเกิดจากหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.๒ ถึง ล.๑๒ ซึ่งรวมถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในการบอกเลิกสัญญาครั้งนี้ด้วยจึงเป็นการประนีประนอมยอมความกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ทำให้การเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดยอมสละแล้วนั้นระงับสิ้นไปตามมาตรา ๘๕๒ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่อาจนำค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมาฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นคดีนี้อีก ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางต้องสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเข้าทำงานต่อไปก่อน หากโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้จึงจะมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและให้เหตุผลในการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วหรือไม่ตามที่จำเลยอุทธรณ์เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบเอ็ด.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด