คำพิพากษาฎีกาที่ 7724/57
สัญญาจ้างห้ามลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างใหม่ที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกันมีกำหนดเวลา บังคับใช้ได้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานฝ่ายสายงานทรัพยากรบุคคล ได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,000 บาท โดยตามสัญญาจ้างตกลงห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์เพื่อเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โดยพ้นสภาพการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ไปทำงานบริษัทที่ทำธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 380,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 38,040 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกจากงาน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนแผนกโครงการ มีหน้าที่แนะนำและขายผลิตภัณฑ์สำหรับงานปรับปรุงอาคารที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไปทำงานที่บริษัทอื่น ซึ่งเป็นบริษัทที่มิได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันกับโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ในการทำงานกับโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นพนักงานแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า บริษัทเบเยอร์ จำกัด นายจ้างใหม่ของจำเลยที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 1 ลาออกจากโจทก์ เป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการขายสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ อันมีลักษณะเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์หรือไม่ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสีทาอาคารในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่วนบริษัทเบเยอร์ จำกัด ก็ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสีทาอาคารภายในประเทศไทยเช่นเดียวกัน จึงเห็นว่าโจทก์กับบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจขายสินค้าที่เป็นชนิดและประเภทเดียวกันในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นคู่แข่งทางการค้าต่อกัน กรณีต้องด้วยสัญญาจ้างงานตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องไม่มีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของโจทก์ว่า สัญญาจ้างงานตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 มีผลใช้บังคับหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาจ้างงาน ข้อ 8 ดังกล่าวมีข้อความว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะไม่ไปประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ หรือมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ภายในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้างต้นเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในด้านอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้ ทั้งข้อห้ามจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงก็มีผลเพียง 3 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นพนักงานของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ และเป็นธรรมแก่คู่กรณีแล้ว มีผลใช้บังคับได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างงานตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนสัญญา ข้อ 8 จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่สมควร เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าสัญญาจ้างงาน ข้อ 8 มีผลใช้บังคับได้และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยได้รับการอบรมจากโจทก์ให้มีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการขาย ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ วิธีการนำเสนอสินค้า และเทคนิคสีทั้งหมดของสินค้าโจทก์ การที่โจทก์ไปทำงานเป็นพนักงานในบริษัทเบเยอร์ จำกัด คู่แข่งทางการค้าของโจทก์ภายใน 3 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ลาออกจากโจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนสัญญาข้อ 8 แล้ว หากเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่สมควร โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยเพราะตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 และข้อ 5 มีความหมายชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เฉพาะ ในการทำงานระหว่างที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงในเรื่องความเสียหายของโจทก์กรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ 8 จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้วพิพากษาใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ 8 ต่อโจทก์ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด