คำพิพากษาฎีกาที่ 4703/57
เลิกจ้างและรับเงินค่าชดเชย ใบรับเงิน ระบุขอสละสิทธิ์เรียกร้องเงินอื่นใดใช้บังคับได้ ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องสินจ้างและค่าเสียหายได้อีก
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกตัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,740 บาท ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลในคำสั่งเลิกจ้างว่าจำเลยประสบปัญหาขาดทุนจำเป็นต้องปรับปรุงหน่วยงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตต้องลดค่าใช้จ่ายรวมถึงต้องลดจำนวนพนักงานในบางแผนกลง ก่อนที่จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้พยายามบีบบังคับให้โจทก์ลาออกจากงานโดยการกลั่นแกล้งและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อหวังให้โจทก์ทนทำงานต่อไปไม่ได้ ทั้งรายละเอียดในงบดุลหรืองบการเงินที่จำเลยยื่นไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์ก็มิได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบการขาดทุนถึงขนาดจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ละภายหลังการเลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างคนอื่นแล้วจำเลยได้รับสมัครลูกจ้างเพิ่มเติม การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้จัดทำเอกสารใบรับเงินให้โจทก์ลงนาม ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวมีข้อความในวรรคสุดท้ายว่า “ข้าพเจ้าไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากบริษัทอีก และข้าฯขอสละสิทธิที่จะเรียกร้องหรือฟ้องให้บริษัทชำระเงินใดๆ ให้แก่ข้าฯ เกี่ยวกับการทำงานของข้าฯ กับบริษัทเสียทั้งสิ้น” ก่อนโจทก์จะลงนามโจทก์โต้แย้งให้จำเลยตัดข้อความจำกัดสิทธิดังกล่าวออกไปแต่จำเลยไม่ยินยอม จำเลยแจ้งว่าจะจ่ายเงินให้ตามกฎหมายหากไม่ลงนามก็จะไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์อันเป็นการทำกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงโจทก์ก็จะไม่ลงนาม คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับ จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม แต่หากไม่ยอมรับหรือไม่อาจรับเข้าทำงานได้จำเลยจำต้องชดใช้เงินเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมก็ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,353,708 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงจ่ายเงินค่าจ้างระหว่างวันทำงาน ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินช่วยเหลืออันเนื่องมาจากการเลิกจ้างและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงรับเงินตามที่จำเลยเสนอจ่ายให้พร้อมกับลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วยความสมัครใจซึ่งมีข้อความว่าไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดๆ และสละสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องเรียกเงินใดๆ จากจำเลยอีกโดยมิได้โต้แย้งข้อความใดๆ ในบันทึกข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ยอมสละไปแล้วนั้นระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จำเลยประสบปัญหาเศรษฐกิจและขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย งบต้นทุนและจำนวนพนักงานในบางแผนกเพื่อให้กิจการของจำเลยสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ โดยจำเลยพิจารณาความเหมาะสมของปริมาณงาน ตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับหน้าที่รับผิดชอบ ทักษะหรือความชำนาญของงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ผลการปฏิบัติงานสถิติการถูกลงโทษตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และสถิติการขาดหรือลางานและการมาทำงานสาย ผลการทำงานของพนักงานทุกแผนกปรากฏว่ามีพนักงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องถูกเลิกจ้างรวมทุกแผนกจำนวน 30 คน พนักงานแผนกตัดที่โจทก์ทำงานอยู่มีพนักงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องถูกเลิกจ้างจำนวน 5 คน รวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์รวมทั้งพนักงานอื่นอีกจำนวน 30 คน จึงเนื่องจากความจำเป็นทางธุรกิจเพื่อให้กิจการสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เป็นเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ จำเลยมิได้กลั่นแกล้งหรือเจาะจงที่จะหาเหตุต้องเลิกจ้างโจทก์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเปิดรับสมัครพนักงานใหม่เป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารแทนชุดเก่าและเป็นการรับสมัครตำแหน่งที่ยังขาดอยู่สำหรับโครงสร้างใหม่ของจำเลย อีกทั้งตำแหน่งงานใหม่ก็ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งงานเดิมของโจทก์ จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ครบแล้ว และตามบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทโจทก์ได้สละสิทธิไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้าแผนกตัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นรายเดือนตามฟ้อง จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.2 และบัญชีงบดุลประจำปี 2548 และ 2549 เอกสารหมาย ล.3 จำเลยเลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นรวมทั้งหมด 30 คน เนื่องจากกิจการของจำเลยขาดทุนและมีการปรับเปลี่ยนกรรมการจำเลยชุดใหม่ทั้งหมด ในการเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างทันทีตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ลงลายมือชื่อโดยสมัครใจในใบรับเงินเอกสารหมาย จ.ล.1 และได้รับเงินจากจำเลยตามเอกสารดังกล่าว ซึ่งยังคงขาดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,232 บาท ต่อมาจำเลยประกาศรับสมัครงานซึ่งได้รับลูกจ้างใหม่เข้ามาทำงานแทนตำแหน่งโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 และไม่ปรากฏว่าจำเลยรับลูกจ้างใหม่เข้ามาทำงานเท่ากับจำนวนที่เลิกจ้างไปหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 ที่มีข้อความถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องเงินประเภทอื่นอันจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำโดยสมัครใจของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องจากจำเลย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าในทางปฏิบัติผู้ทำนิติกรรมโดยกลฉ้อฉลทุกคนจะตกลงเข้าทำนิติกรรมหรือยินยอมลงนามในนิติกรรมนั้นด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น เพียงแต่ความสมัครใจนั้นมิได้เกิดจากความประสงค์อันแท้จริง เมื่อผู้จัดการโรงงานทำคำเสนอเป็นหนังสือเลิกจ้างพร้อมอธิบายว่าจำเลยขาดทุน ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าเหตุผลในการเลิกจ้างเป็นความจริง โจทก์ลงลายมือชื่อในใบรับเงินโดยไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทางเลือกและไม่เข้าใจข้อความจำกัดสิทธิ การที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยตามใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 เป็นการวินิจฉัยโดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุนเนื่องจากวินิจฉัยตามคำเบิกความของพยานจำเลยที่ว่าเหตุที่ไม่ระบุเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพราะเป็นสิทธิของจำเลยที่จะระบุหรือไม่ก็ได้ ทั้งที่พยานโจทก์ 2 ปากยืนยันว่าจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเกี่ยวกับการสละสิทธิให้รวมถึงการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ที่วินิจฉัยว่าไม่อาจถือว่าจำเลยมีพฤติการณ์กลั่นแกล้งโจทก์ก็ไม่ชอบเพราะศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงผิดไปว่าไม่มีการรับลูกจ้างใหม่เท่ากับจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งที่มีข้อเท็จจริงว่าจำนวนลูกจ้างใหม่ใกล้เคียงกับจำนวนที่ถูกเลิกจ้าง และไม่ได้ฟังข้อเท็จว่าจำเลยไม่ได้แจ้งการประเมินการทำงานให้โจทก์ทราบ เมื่อจำเลยรับลูกจ้างใหม่เข้ามาแทนตำแหน่งของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นรวม 30 คน ก็เนื่องจากกิจการขาดทุนและมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่ทั้งหมด และไม่ปรากฏว่าจำเลยรับลูกจ้างใหม่เท่ากับจำนวนที่จำเลยเลิกจ้างไปหรือไม่ กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยมีพฤติการณ์กลั่นแกล้งโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจในใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 และรับเงินจากจำเลยครบตามใบรับเงิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจากจำเลยอีก เช่นนี้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 2 เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากการฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานภาค 2 อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสิทธิที่โจทก์จะได้รับเงินตามฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การที่โจทก์ลงลายมือโดยสมัครใจในใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 และรับเงินจากจำเลยตามใบรับเงินครบ โดยใบรับเงินมีข้อความสละสิทธิเรียกร้องเงินจากจำเลยอีก โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าแม้โจทก์ลงลายมือชื่อในใบรับเงินก็ไม่มีผลบังคับผูกพันโจทก์ ข้อความสละสิทธิเรียกร้องเงินไม่อาจตีความให้รวมถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์รับทราบการเลิกจ้างและตกลงยอมรับเงินโดยลงลายมือด้วยความสมัครใจไว้ในใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 ที่มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากบริษัทฯอีก และข้าพเจ้าขอสละสิทธิที่จะเรียกร้องหรือฟ้องร้องให้บริษัทฯชำระเงินใดๆ ให้แก่ข้าพเจ้าเกี่ยวกับการทำงานของข้าพเจ้ากับบริษัทฯเสียทั้งสิ้น และจำเลยจ่ายเงินตามใบรับเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบ ความหมายของคำว่า เงินอื่นใดและเงินใดๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหรือสละสิทธิย่อมหมายความรวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 เมื่อค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่ค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้นอกจากนี้เมื่อโจทก์ตกลงยอมรับเงินโดยลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจในใบรับเงินเอกสารหมาย จล.1 หลังจากโจทก์ทราบการเลิกจ้างแล้ว โจทก์ย่อมสละสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ บันทึกสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าย่อมมีผลผูกพันโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลยอีก ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด