คำพิพากษาฎีกาที่ 1517/57
เกษียณอายุ 60 ปี ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยนับแต่วันครบกำหนดเกษียณอายุ แม้นายจ้างไม่ได้บอกเลิกจ้างก็ตาม
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2526 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 19 กำหนดว่า การเกษียณอายุ ข้อ 19.1 ปกติบริษัทจะให้พนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานโดยการเกษียณอายุเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยพนักงานจะได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อโจทก์อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไป โดยจ่ายค่าจ้างตามปกติเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550 โจทก์ได้ขอเกษียณอายุ เพราะต้องการพักผ่อน โดยจะทำงานถึงวันที่ 11 มีนาคม 2550 แต่จำเลยขอให้โจทก์ส่งมอบงานและเคลียร์งานให้จำเลยก่อน โดยให้ทำงานถึงวันที่ 15 เมษายน 2550 โจทก์ได้ทำงานให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อโจทก์ทวงถามค่าชดเชย จำเลยกลับเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าทำงานและเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งสุดท้ายคือผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 165,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสุดท้ายของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550 โจทก์ได้เข้าไปลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยสมัครใจและได้ยื่นใบลาออกถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยได้อนุมัติให้ลาออก มีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2550 จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าชดเชยได้ เนื่องจากโจทก์ได้ลาออกโดยสมัครใจทั้งโจทก์ยังมีอายุไม่ครบ 60 ปี แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ตามสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในสำนวน โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่เดือนมกราคม 2526 จนกระทั่งอายุครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2548 หลังจากนั้นจำเลยให้โจทก์ทำงานต่ออีกประมาณ 2 ปี โจทก์จึงทำหนังสือขอเกษียณอายุการทำงานกับจำเลยโดยจะทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2550 ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.4 แต่จำเลยขอให้โจทก์ช่วยทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2550 จึงหยุดทำงาน เงินเดือนครั้งสุดท้ายได้รับเดือนละ 16,500 บาท ตามใบสำคัญจ่ายของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเรื่องการเกษียณอายุมีข้อกำหนดว่า จำเลยจะให้พนักงานพ้นสภาพการจ้างโดยการเกษียณอายุเมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยพนักงานจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่จำเลยอาจยังคงการว่าจ้างต่อไปเมื่อเห็นว่าพนักงานผู้นั้นยังมีความจำเลยเป็นต่อจำเลย ทั้งยังคงสามารถปฏิบัติงานให้แก่จำเลยได้ด้วยดีต่อไป การให้พ้นสภาพพนักงานตามข้อนี้ จำเลยจะแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุไว้ชัดเจนว่า พนักงานเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปี โดยพนักงานจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย สิทธิในการรับค่าชดเชยของโจทก์จึงเกิดขึ้นตั้งแต่โจทก์มีอายุครบ 60 ปี โดยไม่คำนึงว่าหลังจากนั้นจำเลยจะยังคงจ้างโจทก์ต่อไปหรือเลิกจ้าง สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แม้จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ก็ตาม เนื่องจากหากยอมให้จำเลยหยิบยกเรื่องการเลิกจ้างหลังจากพนักงานทำงานจนอายุครบ 60 ปี ขึ้นเป็นข้ออ้างได้ ย่อมจะเป็นช่องทางให้เกิดการหลบเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุเมื่อพนักงานอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยทำทีเป็นคงการจ้างต่อไปจนพนักงานทำงานไม่ไหวลาออกไปเองเช่นกรณีของโจทก์ อนึ่ง ไม่ปรากฏว่าขณะโจทก์อายุครบ 60 ปี โจทก์ได้รับเงินเดือนเท่าใด การที่ศาลแรงงานกลางใช้เงินเดือนขณะโจทก์ลาออกเป็นอัตราในการคิดค่าชดเชยจึงชอบแล้ว นอกจากนี้ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปี คือ วันที่ 3 สิงหาคม 2548 ในขณะที่ตามคำฟ้องขอคิดตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 8 มิถุนายน 2550 นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามฟ้องโจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคท้าย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินคำขอจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยให้นับตั้งแต่วันฟ้อง ( วันที่ 8 มิถุนายน 2550 ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด