คำพิพากษาฎีกาที่ 1369/57
ละเลยต่อหน้าที่ ไม่รายงานเคพีไอ นายจ้างตักเตือนแล้ว ถือว่าผิดซ้ำคำเตือน เลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ อัตราค่าจ้างเดือนละ 26,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 300 วัน เป็นเงิน 265,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2549 เป็นเงิน 30,033 บาท เงินประกันที่จำเลยหักจากค่าจ้างระหว่างทำงานเป็นเงิน 5,000 บาท ค่าจ้างค้างวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เป็นเวลา 27 วัน เป็นเงิน 23,850 บาท หนังสือรับรองการผ่านงาน หนังสือเลิกจ้าง หนังสือรับรองการหักภาษีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ตกงานขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัวเป็นเงิน 291,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 30,033 บาท คืนเงินประกัน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินประกันนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าจ้าง 23,850 บาท ค่าชดเชย 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วันของค่าชดเชยและค่าจ้างนับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไป ออกหนังสือรับรองการทำงาน หนังสือเลิกจ้าง หนังสือรับรองการหักภาษี และจ่ายค่าเสียหาย 291,500 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ทำให้ระบบงานของจำเลยได้รับความเสียหาย และโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทำให้จำเลยถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งโจทก์ไม่ทำรายงานเคพีไอ จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์แล้ว 2 ครั้ง แต่โจทก์ยังกระทำความผิดซ้ำคำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,033 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ คำให้การของจำเลย และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลางรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ เดือนละ 26,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ระบบการทำงานของจำเลยกำหนดให้หน่วยงานทุกแผนกทำรายงานประจำเดือน ประจำสัปดาห์ ประจำวัน และรายงานการตรวจสอบการทำงานของแผนกว่าถึงเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ (เคพีไอ) ให้แก่ผู้บริหารของจำเลยรับทราบ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยได้มีหนังสือเตือนโจทก์ในเรื่องที่โจทก์มิได้ส่งหนังสือรายงานประจำเดือน ประจำสัปดาห์และเคพีไอให้แก่ผู้บริหารของจำเลย โจทก์ลงชื่อรับทราบหนังสือเตือนทั้ง 2 ครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกำหนดให้หน่วยงานทุกแผนกของจำเลยต้องทำรายงานประจำเดือน ประจำสัปดาห์ ประจำวัน และเคพีไอ นั้น ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบการบริหารงานของจำเลยให้มีประสิทธิภาพหากแผนกงานใดมีปัญหาหรือขาดประสิทธิภาพจำเลยจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงทีระบบการรายงานดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญในระบบของจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญสำหรับกิจการของจำเลย การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยโดยไม่ทำรายงานประจำเดือน ประจำสัปดาห์ และรายงานเคพีไอต่อจำเลยนั้นย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในเรื่องดังกล่าวมา 2 ครั้งแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนต่อคำสั่งหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับรายงานในเรื่องดังกล่าวอีกในระยะเวลาที่หนังสือเตือนทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับตามกฎหมายการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ทำรายงานประจำเดือนรายงานประจำสัปดาห์ รายงานประจำวัน และรายงานเคพีไอเสนอต่อผู้บริหารของจำเลยเป็นเรื่องที่โจทก์บกพร่องขาดความสามารถ เป็นการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ เป็นเพียงคุณลักษณะส่วนตัวของโจทก์ไม่ใช่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ฉะนั้น จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด