คำพิพากษาฎีกาที่ 1809/57
ทำสัญญาจ้างต่างด้าวทำงานในอาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว สัญญาจ้างถือเป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศของจำเลย ค่าจ้างเดือนละ 5,500 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ค่าที่พักและค่าเดินทางเดือนละ 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินแต่ละสกุลเป็นสกุลเงินบาทแล้วระหว่างโจทก์กับจำเลยถือปฏิบัติการจ่ายอัตราค่าจ้าง และค่าที่พักอาศัยให้แก่โจทก์เดือนละ 250,000 บาท กำหนดระยะเวลาการจ้าง 3 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2545 ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยครบกำหนดตามสัญญาจ้าง จำเลยยังคงว่าจ้างโจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปอีกตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเดิมทุกประการ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีสาเหตุจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างที่จำเลยค้างจ่ายโจทก์นับแต่เดือนมกราคม2547 จนถึงมิถุนายน 2549 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงเดือนละ 200,000 บาท ยังคงค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ช่วงดังกล่าวอยู่เดือนละ 50,000 บาท ค้างจ่ายค่าจ้างเดือนกรกฎาคม สิงหาคม 2549 เดือนละ 51,838 บาท และ 91,868 บาท ตามลำดับ ขณะถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทำงานกับจำเลยมาแล้วเกินกว่า 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 180 วัน เป็นเงิน 1,500,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30 วัน เป็นเงิน 250,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างเดือนกันยายน 2549 แก่โจทก์อีก 10 วัน เป็นเงิน 83,333 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 1,677,009 บาท ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 นายคอวฮ์ ฮอง พิน กรรมการคนหนึ่งของจำเลยทำกับโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์โดยกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยคนอื่นไม่ทราบเรื่องและมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลย จึงไม่ผูกพันจำเลย นอกจากนี้สัญญาจ้างดังกล่าวไม่ได้เป็นการจ้างโจทก์มาทำงานในตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในสัญญาแต่เป็นการจ้างโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมาเป็นช่างตัดผมในประเทศไทย อันเป็นอาชีพที่กฎหมายห้ามคนต่างด้าวทำ สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อย จึงตกเป็นโมฆะไม่อาจมีผลบังคับใช้ได้มาแต่ต้น เนื่องจากโจทก์กับนายคอวฮ์ ฮอง พิน กรรมการของจำเลยที่ทำสัญญาจ้างกับโจทก์ มีข้อตกลงกันว่าในการทำหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จะทำรายได้ให้แก่จำเลย 4 เท่าของเงินเดือนซึ่งไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท แต่เมื่อโจทก์มาทำงานกับจำเลย โจทก์ไม่สามารถทำให้จำเลยมีรายได้ถึง 1,000,000 บาท และจากการที่โจทก์ไม่สามารถทำรายได้แก่จำเลยตามจำนวนที่ตกลงไว้ ประกอบกับจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์สูงจึงทำให้จำเลยประสบภาวะขาดทุนตลอดมา ต่อมาในเดือนมกราคม 2547 โจทก์ตกลงให้จำเลยลดค่าจ้างลงเหลือเดือนละประมาณ 210,000 บาท แต่จำเลยก็ยังขาดทุนตลอดมา เมื่อโจทก์ไม่สามารถทำให้จำเลยมีกำไรขึ้นมาได้ในเดือนมีนาคม 2548 โจทก์จึงขอเข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลย และจำเลยดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของจำเลย จึงทำให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างกลับเป็นนายจ้างแทน แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละประมาณ 210,000 บาทอยู่ตลอดมา ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน 2549 โจทก์เสนอซื้อกิจการของจำเลยในราคา 7,000,000 บาท และได้ชำระเงินแก่จำเลยบางส่วนเป็นจำนวนเงินประมาณ 100,000 บาท แต่ไม่ได้ชำระเงินที่เหลือให้แก่จำเลยอีกและโจทก์ได้ไปเปิดกิจการร้านตัดผมและทำผมแข่งกับจำเลยโดยอยู่ห่างจากร้านของจำเลยเพียง 200 เมตร ใช้ชื่อร้านเลียนแบบชื่อร้านของจำเลยทั้งขโมยข้อมูลลูกค้าของจำเลยไปและส่งข้อความไปที่โทรศัพท์มือถือของลูกค้าจำเลยว่าจำเลยเลิกกิจการแล้ว และไปเปิดกิจการใหม่ที่ร้านของโจทก์ ดังนั้นจำเลยจึงไม่ได้ติดค้างเงินค่าจ้างโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลยในฐานะลูกจ้างอีกต่อไป จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่มาทำงานกับจำเลยเอง โดยโจทก์มาทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 11 กันยายน 2549 แล้วขาดงานไปเกินกว่า 3 วัน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วไม่กลับมาทำงานอีกเลย โดยไม่แจ้งจำเลยถึงสาเหตุที่ไม่กลับมาทำงาน จำเลยได้ทำการตรวจสอบพบว่าโจทก์แอบไปเปิดกิจการร้านตัดผมแข่งขันกับจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 ทั้งโจทก์ได้ยักยอกเงินของจำเลยไปจำนวน 20,000 บาท และยักยอกอุปกรณ์ทำผมของจำเลยไปหลายรายการคิดเป็นเงิน 5,400 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย สำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนตุลาคม 2547 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 2 ปี จึงขาดอายุความ เมื่อโจทก์เข้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของจำเลยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 แล้ว โจทก์จึงพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปเป็นนายจ้างแทนนับแต่เดือนมีนาคม 2548 เป็นต้นมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินในส่วนอื่นๆ จากจำเลยได้ ดังนั้นจำนวนเงินที่พิพาทกันจึงมีเพียง 4 เดือนคือเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เท่านั้น ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายฟ้องว่ากำหนดวันที่จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นวันที่เท่าใดและจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างหรือติดค้างค่าจ้างโจทก์เมื่อใด ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องของโจทก์พอที่จะต่อสู้คดีได้ การที่สัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ตกเป็นโมฆะคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าจ้างทั้งหมดที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 9,970,000 บาท การที่โจทก์ประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับจำเลยเป็นคู่แข่งกับจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเป็นการทำละเมิดต่อจำเลย และการที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทำกิจการค้าขายอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1168 ทั้งโจทก์ได้ลักข้อมูลลูกค้าของจำเลยไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยขอเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 7,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ต้องคืนเงินที่ยักยอกไปจำนวน 20,000 บาท และอุปกรณ์ทำผมที่ยักยอกไปคิดเป็นเงิน 5,400 บาท แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องและให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 16,995,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ตลอดจนห้ามมิให้โจทก์ประกอบการค้าตัดผมและทำผมแข่งขันกับจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยชอบด้วยกฎหมาย นายคอวฮ์ ฮอง พิน ได้ลงนามในสัญญาในฐานะที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยโดยโจทก์และจำเลยได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญามาโดยตลอดไม่เคยมีการโต้แย้งเงื่อนไขต่างๆ จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และได้ทำงานให้แก่จำเลยตามวัตถุประสงค์ของสัญญาแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามข้อตกลงจากจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าจ้างตามฟ้องแย้ง สัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นการว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศไม่ใช่เข้าทำงานเป็นช่างตัดผม จึงไม่มีวัตถุประสงค์ใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าจะทำให้จำเลยมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท เพราะงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์นั้นเป็นเพียงงานส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจของจำเลย การที่จำเลยจะสามารถทำรายได้ให้มีจำนวนมากนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารของจำเลย หาใช่ขึ้นอยู่กับโจทก์ โจทก์กับจำเลยไม่เคยตกลงลดเงินเดือนของโจทก์ลงมาเหลือ 210,000 บาท จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุน ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยมีกำไรตลอดมา โจทก์ถือหุ้นของจำเลยไว้จำนวน 20,000 หุ้น และเข้าเป็นกรรมการของจำเลยเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ไม่เคยเสนอซื้อกิจการของจำเลย เนื่องจากไม่มีความสามารถที่จะซื้อได้ โจทก์ไม่เคยไปเปิดกิจการร้านตัดผมทำผมแข่งกับจำเลยและไม่เคยลักข้อมูลลูกค้าของจำเลยและไม่เคยกระทำการใดๆ ตามฟ้องแย้ง สำหรับเงินจำนวน 20,000 บาท และอุปกรณ์ทำผม ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยักยอกไปนั้นไม่มีมูลความจริง เงินจำนวน 20,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนโจทก์ของเดือนกรกฎาคม 2549 ซึ่งโจทก์ได้รับโดยถูกต้องตามกฎหมาย และจำเลยยังค้างชำระโจทก์อยู่อีก ส่วนอุปกรณ์ทำผมนั้นเป็นของใช้ส่วนตัวของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานกับจำเลยแล้ว โจทก์สามารถนำกลับไปได้และกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาฟ้องแย้งส่วนนี้ได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายของเดือนตุลาคม 2547 ถึงมิถุนายน 2549 และกรกฎาคมถึงกันยายน 2549 รวมเป็นเงินจำนวน 1,071,104 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ตุลาคม 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายคอวฮ์ ฮอง พิน นางสาวเทย์ เลย์ อิง แคทเทอรีน นายกฤตกร รัตโนภาส และโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 นายคอวฮ์ ฮอง พิน ทำสัญญาจ้างโจทก์ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไป อัตราค่าตอบแทน 5,500 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ค่าที่พักและค่าเดินทางอีกเดือนละ 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตามสำเนาสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย หลังทำสัญญาโจทก์มาทำงานที่ร้านตัดผมของจำเลย ชื่อร้านแฮร์เอกซ์เพรส (HAIR EXPRESS) ตั้งอยู่ที่ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยทำหน้าที่เป็นช่างตัดผม ในแต่ละเดือนจำเลยจ่ายค่าจ้างรวมค่าที่พักอาศัยและค่าขนส่งเดินทางให้โจทก์เป็นเงินไทยเดือนละ 250,000 บาท เมื่อโจทก์ทำงานครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง จำเลยคงว่าจ้างโจทก์ทำงานต่อไปอีกตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเดิมตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงมิถุนายน 2549 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เดือนละ 209,805 บาท ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2549 จำเลยจ่ายค่าจ้างไม่ครบ 250,000 บาท เดือนกรกฎาคมขาดไป 51,838 บาท เดือนสิงหาคม 91,838 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยวันสุดท้ายวันที่ 11 กันยายน 2549 โดยจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนดังกล่าว หลังจากไม่ได้มาทำงานกับจำเลย โจทก์ไปเป็นช่างตัดผมที่ร้านแฮร์รีเควส (HAIR REQUEST) ตั้งอยู่ปากซอยทองหล่อ ในการทำงานกับจำเลย จำเลยได้ดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยให้แก่โจทก์ตามสำเนาใบอนุญาตทำงาน เอกสารหมาย จ.4 และร้านตัดผลของจำเลยจะให้บริการตัดผมและทำเคมีผลให้แก่ลูกค้าเท่านั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาแก่โจทก์หรือไม่และโจทก์ต้องคืนเงินค่าจ้างทั้งหมดที่จำเลยจ่ายให้โจทก์จำนวน 9,970,000 บาท ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยหรือไม่ สำหรับปัญหาว่าสัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เห็นว่า แม้สัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ระบุจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการส่วนเทคนิคก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นชาวญี่ปุ่น หลังทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ได้ทำหน้าที่เป็นช่างตัดผมที่ร้านตัดผมของจำเลย เมื่อการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้คือพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 5 ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า “บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” และขอคำว่า “การทำงาน” หมายความว่า การทำงานโดยใช้กำลังกายหรือความรู้ด้วยประสงค์ค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม” และมาตรา 6 ได้กำหนดว่างานใดที่ห้ามคนต่างด้าวทำในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดเพียงใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ในมาตรา 4 ว่า ให้กำหนดงานในอาชีพหรือวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ซึ่งปรากฏว่า “งานตัดผม หรืองานเสริมสวย” ได้ถูกกำหนดไว้เป็นอาชีพหรือวิชาชีพในลำดับ (10) ของบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้านทำ พ.ศ. 2522 โดยกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวที่ห้ามคนต่างด้าวทำงานในอาชีพหรือวิชาชีพดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อสงวนอาชีพบางประเภทไว้ให้คนไทยทำ และป้องกันคนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ภายใต้หลักการคุ้มครองโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทยและคำนึงถึงประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐและเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นกฎหมายที่มีการจำกัดเสรีภาพหรือโอกาสในการประกอบอาชีพในประเทศไทยของคนต่างด้าวที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2540 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 335 (1) ได้รับรองให้มีผลใช้บังคับได้ มาตรา 29 และ 50 เมื่อจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นช่างตัดผมที่ร้านตัดผมของจำ เลย โดยตกลงให้ค่าจ้างเป็นเงินเดือน จึงถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นเป็นคนต่างด้าวตามบทนิยามของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 และงานที่โจทก์ทำตามสัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นอาชีพหรือวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักรตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติอีกว่าในการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างดังกล่าวโดยระบุว่าให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการส่วนเทคนิค ซึ่งเป็นงานที่ไม่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด โดยมีการขออนุญาตทำงานดังกล่าวอย่างถูกต้อง แต่ความจริงปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นช่างตัดผม จึงย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้กระทำการทำสัญญาจ้างโดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตมาแต่แรกด้วยการขออนุญาตมาทำงานในอาชีพหรือวิชาชีพที่ไม่ต้องห้ามโดยเด็ดขาดเพื่อให้ได้รับอนุญาตแล้วมาแอบหลบเลี่ยงทำงานในอาชีพหรือวิชาชีพที่ต้องห้ามตามกฎหมายโดยชัดแจ้ง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงเป็นการจ้างโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำงานตัดผมอันเป็นอาชีพหรือวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้โดยเด็ดขาด สัญญาจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่โจทก์ทำกับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังนั้นสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่าโจทก์ต้องคืนเงินค่าจ้างทั้งหมดที่จำเลยจ่ายให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ และการที่จำเลยชำระเงินค่าจ้างจำนวน 9,970,000 บาท แก่โจทก์ซึ่งถือเป็นการชำระเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าว ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 4 ด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 411 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่” ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจเรียกเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ฐานลาภมิควรได้ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินคืนให้แก่จำเลยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามาแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยจ่างค่าจ้างค้างจ่ายของเดือนตุลาคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 และเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2549 รวมเป็นเงิน 1,071,104 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด