คำพิพากษาฎีกาที่ 11582/57
แม้สัญญาจ้างไม่ได้ระบุระยะเวลาทดลองงานไว้ แต่นายจ้างก็สามารถประเมินผลการทำงานของลูกจ้างได้
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่ จำกัด ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทพัชรเวช จำกัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งแพทย์ประจำฝ่ายการแพทย์อัตราค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์หยุดพักงานไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าโจทก์มีปัญหาด้านวัยวุฒิและสุขภาพ การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์หยุดพักงานเพื่อดูแลสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายกล่าวคือ จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2551 แก่โจทก์จำนวน 20,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 70,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 140,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,750 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 70,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 140,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ทำงานจริงโดยตกลงกันวันที่ 11 มีนาคม 2551 และเริ่มทำงานในวันที่ 17 มีนาคม 2551 ตกลงค่าตอบแทนเดือนละไม่น้อยกว่า 70,000 บาท หากโจทก์ไม่เข้าปฏิบัติงานตามข้อตกลงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนในวันนั้น สำหรับวิธีการที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานนั้นก็แตกต่างจากการรับแพทย์อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำ ทำให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะลูกจ้างประจำของจำเลย ค่าตอบแทนของโจทก์ในเดือนมีนาคม 2551 โจทก์ได้รับจำนวน 33,950 บาท เดือนเมษายน 2551 ได้รับ 64,718 บาท ในเดือนเมษายนนางสาววรัญญา เลี้ยงลักษณ์เลิศ กรรมการผู้จัดการของจำเลย ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโจทก์ การวินิจฉัยโรคของโจทก์และการจ่ายยาไม่ตรงกับโรคที่ผู้ป่วยมารับการรักษาต่อมายังมีรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ในเวลาทำงานซึ่งไม่เหมาะสมหลายประการ การรักษาโรคของโจทก์ทำให้คนไข้ไม่มีความเชื่อมั่นในการรักษา จำเลยจึงมีการประชุมทบทวนพบว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดสืบเนื่องจากวัยวุฒิและสุขภาพของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์หยุดพักงาน เมื่อโจทก์ยังอยู่ในช่วงระยะของการประเมินผลการปฏิบัติงานภายใน 120 วัน การเลิกจ้างโจทก์และการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบภายหลังโจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้พักงานแล้ว โจทก์ไม่ได้เข้าปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2551 โจทก์จึงทำงานเพียง 17 วัน มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในเดือนพฤษภาคม 2551 เป็นเงิน 54,079 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนส่วนอื่นอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตำแหน่งแพทย์ตามข้อตกลงการปฏิบัติงานเอกสารหมาย จ.3 มีระยะเวลาการจ้างงานตามข้อตกลงไม่น้อยกว่า 1 ปี ทำสัญญาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ไดรับค่าจ้างในเดือนมีนาคม 2551 โจทก์ได้รับจำนวน 33,950 บาท เดือนเมษายน 2551 ได้รับ 64,718 บาท ในช่วงเดือนเมษายนโจทก์ตรวจรักษาคนไข้ชาวต่างชาติ ต่อมาจำเลยได้รับการร้องเรียนจากคนไข้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ จำเลยพิจารณาแบบประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย ล.7 แล้วเห็นว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 โดยให้โจทก์หยุดพักงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ตามเอกสารหมาย จ.4 แต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เป็นวันสุดท้าย นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2551 โจทก์ไม่ได้ทำงานกับจำเลยอีก โจทก์ได้รับค่าจ้างในเดือนพฤษภาคม 2551 ไปครบถ้วนแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิพักงานโจทก์ เนื่องจากโจทก์มิได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยและไม่ปรากฏว่าข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของจำเลยให้อำนาจไว้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธิพักงานโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ค้างอยู่ 20,000 บาท นั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 5 ฟังว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2551 โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยอีกและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างประจำเดือนพฤษภาคม 2551 ให้แก่โจทก์ครบถ้วน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติงานในวันใดจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามฟ้องอีก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เมื่อศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิพักงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเหตุที่กล่าวอ้างตามเอกสารหมาย จ.4 มาเลิกจ้างโจทก์ได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ศาลแรงงานภาค 5 จะวินิจฉัยมาว่าจำเลยไม่มีสิทธิพักงานโจทก์ก็ตาม แต่การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงต้องพิจารณาถึงเหตุเลิกจ้างเป็นสำคัญว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และเป็นเหตุยกเว้นตามกฎหมายให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ การที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าปฏิบัติงานในฐานะแพทย์โดยประสงค์จะให้โจทก์ปฏิบัติงานเต็มความสามารถแต่ปรากฏจากแบบประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งบุคลากรในระดับต่างๆ ของจำเลยได้ประเมินแล้วมีความเห็นพ้องกันว่าโจทก์ปฏิบัติงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดไว้และยังปรากฏข้อบกพร่องจากการปฏิบัติงานของโจทก์ตามหนังสือรางานผู้อำนวยการจำเลยตามเอกสารหมาย ล.8 ดังนั้น แม้ตามข้อตกลงการปฏิบัติงานของแพทย์เอกสารหมาย จ.3 จะมิได้ระบุให้มีการทดลองงาน แต่จำเลยในฐานะนายจ้างก็มีอำนาจประเมินผลการทำงานของลูกจ้างได้ ซึ่งผลการปฏิบัติงานของโจทก์ตามแบบประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.7 แสดงให้เห็นว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้มิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั่งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด