คำพิพากษาฎีกาที่ 11206/57
การควบรวมกิจการ สิทธิและหน้าที่โอนไปเป็นของบริษัทใหม่ การจ่ายเงินสมทบบริษัทใหม่ที่ควบรวมจึงมีสิทธิจ่ายเงินสมทบในอัตราเดิมตามสิทธิ มิใช่ในอัตราบริษัทตั้งใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยเกิดจากการควบบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (บางปะอิน) จำกัด ก่อนจดทะเบียนควบบริษัท จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2549 แก่บริษัทเดิมทั้งสอง กำหนดอัตราเงินสมทบที่ประเมินไว้ร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้าง โจทก์ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดาที่มีอยู่แก่บริษัทเดิมทั้งสองรวมทั้งสิทธิที่ลูกจ้างมีต่อบริษัทเดิมทั้งสองและโจทก์ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้าง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนนายจ้างใหม่ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งการประเมินเงินสมทบประจำปี 2549 สำหรับการขึ้นทะเบียนของกองทุนเงินทดแทน โดยกำหนดให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 0.40 ของเงินค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ควรต้องจ่ายเพียงอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้างตามสิทธิของบริษัทเดิมทั้งสอง โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มีคำวินิจฉัยยืนตามหนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คำสั่งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการประเมินอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนประจำปี 2549 ตามใบประเมินเงินสมทบเลขที่ 003513 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ที่ 335/2549 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 และมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนประจำปี 2549 ให้แก่จำเลยที่ 4 ในอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้าง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า คำสั่งในการประเมินอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้าง เป็นเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ ซึ่งนิติบุคคลที่เป็นนายจ้างจะมีสิทธิจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ได้ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วสี่ปีติดต่อกันโดยไม่นำระยะเวลาของบริษัทเดิมก่อนควบบริษัทมานับต่อเนื่อง ซึ่งสิทธิในการจ่ายเงินสมทบดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนกันได้ จำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงหน่วยงานย่อยของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามใบประเมินอัตราเงินสมทบเลขที่ 003513 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 สั่งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนประจำปี 2549 ในอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้าง คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยเกิดจากการจดทะเบียนควบกิจการระหว่างบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (บางปะอิน) จำกัด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนและหนังสือรับรอง เอกสารหมาย จ. 2 และจ. 3 และผู้ถือหุ้น 3 คน ในบริษัทโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันกับบริษัทเดิมทั้งสอง ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.4 จ.6 และจ.8 บริษัทเดิมทั้งสองประกอบกิจการเหมือนกันคือโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างกองทุนเงินทดแทนต่อจำเลยที่ 4 กำหนดรหัสกิจการคือ 0911 อัตราเงินสมทบหลักร้อยละ 0.40 ของเงินค่าจ้าง ก่อนมีการจดทะเบียนควบบริษัทเป็นโจทก์ บริษัทเดิมทั้งสองได้รับการประเมินอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ประจำปี 2549 ในอัตราร้อยละ 0.08 ของเงินค่าจ้าง ตามสำเนาแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างเอกสารหมาย จ.9 และ จ.12 และสำเนาใบประเมินเงินสมทบประจำปีเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 โดยมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างเพื่อหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากมีการควบกิจการตามสำเนาแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างเอกสารหมาย จ.11 และจ.15 เดิมบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (บางปะอิน) จำกัด ก็เกิดจากการจดทะเบียนควบกิจการระหว่างบริษัทรีท – ไรท์ (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัทรีท – ไรท์ เอสเอ็มไอ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการประเมินอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ต่อเนื่องมาจากบริษัทเดิม ตามสำเนาแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างและสำเนาหนังสือแจ้งการประเมินเงินสมทบประจำปี เอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ภายหลังจดทะเบียนควบบริษัทแล้วโจทก์ยังคงประกอบกิจการประเภทเดิม มีผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชุดเดิม และได้ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 กำหนดรหัสประเภทกิจการอยู่ในรหัสเดิมคือ 0911 โดยจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งการขึ้นทะเบียนพร้อมส่งใบประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ประจำปี 2549 ให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 0.40 ของเงินค่าจ้าง ตามสำเนาแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง เอกสารหมาย จ.18 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้มีคำวินิจฉัยโดยมีมติยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ตามสำเนาหนังสืออุทธรณ์และสำเนาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เอกสารหมาย จ.19 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามสำเนาประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เอกสารหมาย ล.1 เดิมจำเลยที่ 4 เคยมีหนังสือให้ถือปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินสมทบของกิจการที่ควบเข้ากันตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาได้มีหนังสือเวียนกรณีการกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของนายจ้างที่ควบกิจการให้ถือปฏิบัติตามเอกสารหมาย ล.3 จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือหารือถึงจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินสมทบของการขึ้นทะเบียนบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบเข้ากันตามสำเนาหนังสือขอหารือการกำหนดอัตราเงินสมทบ เอกสารหมาย ล.4 และจำเลยที่ 4 มีหนังสือตอบข้อหารือกลับมา ตามสำเนาหนังสือตอบข้อหารือการกำหนดอัตราเงินสมทบ เอกสารหมาย ล.5 สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ไม่อุทธรณ์ในเรื่องนี้ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 1 และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 4 จะมิได้ให้การเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ศาลแรงงานภาค 1 ได้หยิบยกบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวขึ้นประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลแรงงานภาค 1 ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 4 หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า มีเหตุควรเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ที่กำหนดให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 0.40 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์เพิ่งขึ้นทะเบียนนายจ้างกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไป หน้าที่และความรับผิดของโจทก์ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 44, 45 หาได้เกิดจากโจทก์รับโอนสิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งสองมาไม่ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทเดิมทั้งสองได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างเพื่อหยุดกิจการชั่วคราว จึงเป็นผลให้บริษัทเดิมทั้งสองสิ้นสุดหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนอีกต่อไป มิได้โอนไปยังบริษัทโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบอัตราเงินฝาก วิธีการประเมิน และการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องเดียวกัน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งตามข้อ 15 ในประกาศเอกสารหมาย ล.1 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามตารางที่ 1 มาแล้วสี่ปีติดต่อกัน ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบในปีถัดไปลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างตามตารางที่ 2 ท้ายประกาศนี้ (อัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์) เมื่อโจทก์เพิ่งจ่ายเงินสมทบประจำปี 2549 เป็นปีแรกเท่านั้น กรณีของโจทก์จึงไม่อยู่ในเกณฑ์กำหนดจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ตามข้อ 15 การจ่ายเงินสมทบ การจ่ายเงินสมทบตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้าง (อัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์) จึงเป็นการเฉพาะตัวของนายจ้างแต่ละรายหาโอนไปได้ไม่ จะนำระยะเวลาของบริษัทเดิมทั้งสองมารวมคำนวณในข้อ 15 ดังกล่าวไม่ได้ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 มาอ้างหรือใช้ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 44, 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วสำหรับการจ่ายเงินสมทบหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ เห็นว่า การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวของบริษัทเดิมทั้งสองตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างเอกสารหมาย จ.11 และ จ.15 ก็เพื่อควบเข้ากันเป็นบริษัทโจทก์ มิใช่การเลิกประกอบกิจการ และสภาพและการตั้งบริษัทจำกัดก็เกิดขึ้นโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดที่เกี่ยวกับบริษัท จำกัด ดังนั้นผลจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับเช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 ยังบัญญัติรับรองการควบกันของนิติบุคคลว่าสิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใดให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีบริษัทจำกัด นายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับด้วยจะใช้เพียงพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 หาได้ไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ก็เคยนำระยะเวลาจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนควบบริษัทจำกัดเข้ากันมานับต่อเนื่องให้ดังข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังดังกล่าวข้างต้น แต่กลับมาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ไม่นำระยะเวลามานับต่อเนื่องให้ ตามหนังสือแจ้งเวียนลงวันที่ 22 ธันวาคม 2548 เอกสารหมาย ล.3 โดยไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุไร การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เห็นได้ชัดว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทนให้มีจำนวนมากขึ้นเกินสมควร เป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานภาค 1 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด