คำพิพากษาฎีกาที่ 10899/57
เลิกจ้างรับเงินค่าชดเชยแล้วตกลงสละสิทธิ์จะไม่เรียกร้องผละประโยชน์ใดๆ ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นอันระงับไป
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2550 ในตำแหน่งผู้อำนวยการหัวหน้าแผนกบัญชี ได้รับเงินเดือนๆละ 189,000 บาท และค่าน้ำมันเดือนละ 8,000 บาท รวมเป็นเงินได้เดือนละ 219,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลและบริหารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบบัญชีภาคพื้นเอเชียบริษัทเบนช์มาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือแจ้งการเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่ามีความจำเป็นและเสียใจอย่างยิ่งที่จะต้องบอกเลิกจ้างเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งที่ผลประกอบการของจำเลยที่ 1 มีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 เป็นต้นไป การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามดังนี้ คือ หนี้คงค้างซึ่งเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต 50,000 บาท ค่าขาดโอกาสในการทำงานและรายได้ที่จะเกิดในอนาคต 5,455,015 บาท ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 810,688 บาท ค่าขาดประโยชน์จากเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 86,665 บาท และค่าเสียหายอีก 25,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,402,368 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 31,402,368 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากตามหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้โจทก์ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับให้อีก เช่น โบนัสเฉลี่ยและค่าน้ำมันรถ ซึ่งในการเลิกจ้างดังกล่าวโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบและเข้าใจดีแล้วว่าได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานครบถ้วนแล้วและจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติม จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวเนื่องจากเป็นการกระทำภายในขอบเขตที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการหัวหน้าแผนกบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 219,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 และโจทก์ลงชื่อในหนังสือเลิกจ้างรับทราบว่าได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆเพิ่มเติม ตามเอกสารหมาย ล.3 และจำเลยจ่ายเงินตามที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ขอเลิกจ้างโจทก์โดยพิจารณาจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นๆ อันเนื่องมาจากการเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับการทำงาน ตามอายุงานให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,142,514,87 บาท และโจทก์ลงชื่อรับทราบว่าได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาบัญชีและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีและได้อ่านข้อความบันทึกหนังสือเลิกจ้างเข้าใจแล้วจึงลงชื่อ แสดงว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินจากจำเลย 1,142,514,87 บาทแล้วโจทก์ตกลงไม่ติดใจเรียกผลประโยชน์ใดเพิ่มเติมก็คือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 อีก สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามบันทึกเป็นอันระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด