คำพิพากษาฎีกาที่ 11580/57
รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแทนผู้รับเหมาช่วง หากผู้รับเหมาช่วงไม่นำส่งเงินสมทบตามกฎหมายโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างที่ระบุตามแบบ ( ภ.ง.ด. 50 ) และบัญชีงบดุล
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้กับจำเลยที่ 1 ครั้งแรกโจทก์มีลูกจ้างผู้ประกันตนจำนวน 29 คน หลังจากนั้นโดยเฉลี่ยโจทก์จะมีลูกจ้างผู้ประกันตนประมาณ 7 – 8 คน ซึ่งโจทก์ได้หักเงินจากค่าจ้างของลูกจ้างผู้ประกันตนเพื่อส่งเป็นเงินสมทบให้แก่จำเลยที่ 1 ถูกต้องตามระเบียบมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นปี 2547 จำเลยที่ 1 ตรวจสอบบัญชีค่าจ้างประจำปี 2546 ของโจทก์ แล้วแจ้งแก่โจทก์โจทก์ชำระเงินสมทบไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ครบถ้วน มีค่าจ้างที่จะต้องนำไปคิดคำนวณเงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม 6,575,519 บาท คิดเป็นเงินสมทบประมาณ 540,000 บาท จำเลยที่ 1 อ้างว่ายอดเงินดังกล่าวนำมาจากค่าแรง 116 รายการตามแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก ของโจทก์ ซึ่งเป็นการคำนวณคิดที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะโจทก์ไม่เคยมีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามจำนวนดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลายครั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 แจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ให้โจทก์ส่งเงินสมทบประจำเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม 2546 เป็นเงิน 473,550 บาท เงินเพิ่มตามกฎหมาย 325,056 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 798,606 บาท โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมจึงอุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1307/2549 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 โดยมีความเห็นเป็นเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าทั้งคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ที่ให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและเงินเพิ่มตามกฎหมายดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ที่ 1307/2549
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลคงมีฐานะเป็นเพียงราชการส่วนภูมิภาคของสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาลซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบกิจการก่อสร้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องหักเงินค่าจ้างของผู้ประกันตนรวมถึงในส่วนของนายจ้างเพื่อส่งเป็นเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่จากการตรวจสอบบัญชีค่าจ้างประจำปี 2546 ของโจทก์ตามแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่ จ่าย ภ.ง.ด.1 ก พนักงานงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ชำระเงินสมทบไม่ถูกต้องตามกฎหมายกล่าวคือ ตามแบบรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 ก ของโจทก์ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรประจำปีภาษี 2546 แจ้งรายชื่อผู้มีเงินได้ที่โจทก์เป็นผู้จ่ายค่าแรงจำนวน 116 คน ประกอบกับงบการเงินของโจทก์ในส่วนของต้นทุนรับเหมาปี 2546 ที่แสดงไว้ในรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตระบุเป็นค่าแรงรายวันจำนวน 6,434,519 บาท ซึ่งค่าแรงหรือค่าแรงงานดังกล่าวตามที่ระบุไว้อยู่ในความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” โจทก์ในฐานะนายจ้างเมื่อมีการจ่ายค่าจ้างจะต้องหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 แต่โจทก์มิได้นำส่งเงินสมทบภายในระยะเวลาที่กำหนด โจทก์จึงต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อเดือนนับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 49
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ชำระเงินสมทบจึงเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งในการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เห็นว่าที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการประกอบกิจการก่อสร้างตามสัญญาจ้างบางงานโจทก์มิได้เป็นผู้ดำเนินการเอง มีผู้รับเหมาช่วงที่มิได้ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงระหว่างกันไว้ ผู้รับเหมาช่วงเป็นผู้ดำเนินการหาลูกจ้างมาทำงานควบคุมดูแลการทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเองนั้นขัดแย้งกับข้อความในเอกสารที่โจทก์รับรองความถูกต้องและยื่นแสดงไว้เป็นหลักฐานต่อกรมสรรพากร ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของโจทก์รับฟังไม่ขึ้น พร้อมทั้งมีคำวินิจฉัยเป็นเช่นเดียวกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นการพิจารณาที่ชอบด้วยเหตุผลและดำเนินการตามกฎหมายทุกประการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้กับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2546 โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างอาคารและสะพานกับหน่วยงานของทางราชการหลายแห่ง ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ในการทำงานของโจทก์มีการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงหลายคนเข้ามาทำงานแทนโดยผู้รับเหมาช่วงมีลูก จ้างรวม 116 คน แต่ผู้รับเหมาช่วงทุกคนมิได้ขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนและไม่เคยจ่ายเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและในส่วนของนายจ้างให้แก่กองทุนประกันสังคม จำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่จึงมีหนังสือเตือนครั้งสุดท้ายลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 ให้โจทก์นำเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมที่ค้างชำระประจำเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม 2546 เป็นเงิน 473,550 บาท และเงินเพิ่มตามกฎหมาย 325,056 บาท รวมทั้งสิ้น 798,606 บาท ตามหนังสือเตือนเอกสารหมาย ล.34 โดยจำเลยที่ 1 นำเอาค่าแรงรายวันเป็นเงินประมาณ 6,000,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ค. 50 และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 เอกสารหมาย ล.9 มาเป็นฐานในการคำนวณคิดเงินสมทบ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ในฐานะคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์ และให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1307/2549 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 เอกสารหมาย ล.50 ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วง ให้ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปหากมีตลอดสายจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในเงินสมทบซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ และตามมาตรา 47 และ 49 บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างไว้พอสรุปได้ว่า ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างให้นายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้างตามจำนวนที่ต้องส่งเป็นเงินสมทบและเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่กองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ หากนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบในส่วนของตนหรือในส่วนของลูกจ้าง ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างยังมิได้นำส่ง หรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ เมื่อผู้รับเหมาช่วงที่โจทก์ว่าจ้างมิได้ส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของลูกจ้างและในส่วนของนายจ้างให้แก่กองทุนประกันสังคมตามหน้าที่ โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นจึงต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งตามแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 เอกสารหมาย ล.9 โจทก์ว่าจ้างให้สำนักงานทางบัญชีเป็นผู้จัดทำโดยวิธีการคำนวณคิดจะแบ่งเงินจากรายได้ของโจทก์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกร้อยละ 70 เป็นค่าวัสดุต่างๆ และส่วนที่สองร้อยละ 30 เป็นค่าจ้างแรงงานคิดเป็นเงินประมาณ 6,000,000 บาท อันเป็นวิธีการคำนวณคิดตามที่กรมสรรพากรกำหนด ส่วนแบบยื่นรายการภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 ก เอกสารหมาย ล.8 โจทก์ระบุรายการผู้มีเงินได้ไว้ 2 ส่วน ที่โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินค่าจ้างไว้ส่วนแรกคือพนักงานของโจทก์ 10 ราย มีรายได้เป็นเงิน 872,000 บาท ส่วนที่สองคือลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง 116 ราย มีรายได้เป็นเงิน 2,227,869 บาท แบบยื่นรายการภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 ก จึงเป็นเพียงหลักฐานที่โจทก์จัดทำขึ้นเพื่อแสดงต่อกรมสรรพากรว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินค่าจ้างแรงงานเพียงใดเท่านั้น จึงถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ตามแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 เอกสารหมาย ล.9 เป็นหลักฐานที่ถูกต้องการที่จำเลยที่ 1 นำเอาค่าจ้างแรงงานตามแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 เอกสารหมาย ล.9 มาเป็นหลักฐานในการคำนวณคิดเงินสมทบที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่กองทุนประกันสังคมจึงถูกต้องและชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้แก่ผู้รับเหมาช่วงไปควบคุมดูแลและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างของลูกจ้าง 116 คน การนำแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 แบบยื่นรายการภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 ก และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 มาเป็นฐานในการคิดหาจำนวนลูกจ้างของโจทก์เพื่อคิดเงินสมทบย่อมไม่ถูกต้องเพราะเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงถึงผู้มีเงินได้ มิได้หมายความผู้มีเงินได้จะเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ไม่ปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 5 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 5 ฟังว่า แบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และงบดุลของโจทก์ประจำปี 2546 เอกสารหมาย ล.9 เป็นเอกสารที่ถูกต้อง การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณคิดเงินสมทบของลูกจ้าง 116 คน ที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่กองทุนประกันสังคมถูกต้องแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด