คำพิพากษาฎีกาที่ 2147/57
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุห้ามทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย ผู้บังคับบัญชา เพื่อนพนักงาน ทั้งในสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นๆ ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง ใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อกฎหมาย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์เลิกงานและแวะรับประทานอาหารที่ร้านค้าข้างทางได้พบนายธนาธิป เบ้าสิงสวย พนักงานของจำเลยแต่อยู่คนละแผนก โจทก์กับนายธนาธิปทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะนายธนาธิป นายธนาธิปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจแหลมฉบังเหตุทำร้ายร่างกายเกิดนอกบริษัทและไม่ใช่เวลาทำงานของโจทก์และนายธนาธิป เพราะโจทก์เลิกงานแล้ว ส่วนนายธนาธิปอยู่ในช่วงพักออกมารับประทานอาหารนอกสถานที่ทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างที่กำหนดไว้แน่นอน ทั้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 77,184 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,005 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 120,000 บาท และค่าเสียหายนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอีกเดือนละ 30,000 บาท เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551 หลังเลิกงานโจทก์กับเพื่อนร่วมงานนั่งดื่มเบียร์จนกระทั่งเวลา 12 นาฬิกา นายธนาธิปหัวหน้างานแผนกที่โรงงานผลิตสี 1 ของจำเลยซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์กับเพื่อนร่วมงานเข้าไปรับประทานอาหารในร้านเดียวกัน โจทก์เดินเข้าไปทักทายนายธนาธิปว่า หัวหน้าสบายดีหรือเปล่า นายธนาธิปตอบว่าสบายดี โจทก์พูดว่าเดี๋ยวหัวหน้าจะสบายกว่านี้ จากนั้นโจทก์กลับไปที่โต๊ะหยิบขวดเบียร์ที่ยังไม่ได้เปิดฝาเดินมาตีศีรษะนายธนาธิปจนได้รับบาดเจ็บเป็นแผลกรรจ์ต้องเย็บถึง 13 เข็มและโจทก์ใช้ขวดที่เหลือทำท่าคล้ายจะแทงนายธนาธิปอีกแต่มีพนักงานช่วยกันแยกโจทก์ออกมาหลังจากนั้นโจทก์โทรศัพท์แจ้งบุคคลที่รู้จักว่าได้ทำร้ายร่างกายนายธนาธิปเรียบร้อยแล้วและกล่าวในทำนองสบประ มาทว่านายธนาธิปไม่ได้ตอบโต้ไม่ได้ดูน่ากลัวแต่อย่างใด จำเลยเชื่อว่าสาเหตุทำร้ายร่างกายน่าจะเกิดจากกรณีที่นายธนาธิปประเมินผลงานให้แก่นายเด่นชัย ธรรมนิยม และนายสยาม หนูขาว เพื่อจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2550 ให้คะแนนที่ต่ำสุด พนักงานทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทของโจทก์ จึงน่าเชื่อว่าพนักงานทั้งสองไม่พอใจการประเมินผลงานของนายธนาธิป และมีการปรึกษาหารือกับโจทก์จนโจทก์ได้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายธนาธิปการกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงและเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เวลา 16.45 นาฬิกา ฝ่ายบุคคลเรียกโจทก์เข้าพบ โจทก์ได้นำมีดพกชนิดพับได้ยาวประมาณ 5 นิ้ว เข้ามาในบริเวณโรงงานแล้วพกเข้าไปพบฝ่ายบุคคลอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งอันชอบด้วยกฎ หมายเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลดังกล่าว ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างในอัตราเดิม วันที่ 8 เมษายน 2551 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา หลังจากที่โจทก์เลิกงานแล้วได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านข้างทางและพบกับนายธนาธิป เบ้าสิงสวย พนักงานของจำเลยและเคยเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ โจทก์ใช้ขวดเบียร์ที่ยังไม่ได้เปิดฝาตีศีรษะนายธนาธิปจนศีรษะแตกต้องเย็บ 13 เข็ม โดยนายธนาธิปไม่ได้มีส่วนผิด สถานที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริษัทจำเลยประมาณ 1 กิโลเมตร และมีพนักงานของจำเลยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน เอกสารหมาย ล.5 เรื่องความผิดร้ายแรง ข้อ 61.1 ที่ระบุว่า “ก่อการวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชา เพื่อนพนักงาน หรือผู้อื่นในบริเวณสถานที่ทำงานของบริษัทหรือสถานที่อื่นๆ” ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน ข้อ 66 จำเลยสามารถเลิกจ้างพนักงานที่กระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรงตามข้อ 61 ได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่ศาลแรงงานภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2551 ที่ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานข้อ 61.1 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ และกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่จำเลยจะใช้เป็นเหตุให้เลิกจ้างลูกจ้างทั่วไปและโจทก์ได้หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 ( 2 ) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 25 และมาตรา 26 หรือไม่ เห็นว่าศาลแรงงานภาค 2 สั่งในคำร้องฉบับดังกล่าวว่า “รวม” และต่อมาได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวในคำพิพากษารวมกับการวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองโดยสรุปว่า ตามคำเบิกความพยานจำเลยทั้งหมดสอดคล้องต้องกันว่าสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้นำอาวุธมีดพกเข้ามาในบริเวณบริษัทจำเลยเป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน ข้อ 60.9 กรณีดังกล่าวไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยก็ดี และหากพิจารณาใบรับรองแพทย์และรายงานประจำวันแจ้งเป็นหลักฐานย่อมเป็นไปไม่ได้ว่านายธนาธิปจะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง อีกทั้งโจทก์และนายธนาธิปมีปากเสียงกันก่อนเกิดเหตุและเป็นเรื่องส่วนตัว เหตุเกิดนอกบริษัทจำเลย ไม่ใช่เวลาทำงานของโจทก์และนายนราธิปก็ดี ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 2 และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนจะมีการสอบสวนความผิดเป็นการขัดกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงาน ข้อ 67 และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปเพียงว่าโจทก์กับนายนราธิปทะเลาะวิวาทกันโดยโจทก์ใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะนายธนาธิป เหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นนอกบริษัทและไม่ใช่เวลาทำงานของโจทก์หรือของนายธนาธิป ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างที่กำหนดไว้แน่นอน เท่านั้น โดยมิได้กล่าวอ้างตามประเด็นที่อุทธรณ์มาแต่อย่างใดอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นยกขึ้นมาใหม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 2 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานข้อ 61.1 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานข้อดังกล่าวเป็นระเบียบวินัยที่เกี่ยวกับความประพฤติกรณีเป็นความผิดร้ายแรง คือ ก่อการวิวาทหรือทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชา เพื่อนพนักงาน หรือผู้อื่นในบริเวณสถานที่ทำงานของบริษัทหรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน และทำลายความสัมพันธ์อันดีต่อพนักงานด้วยกันอันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลยและส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลยให้ได้รับความเสียหายตามไปด้วย ทั้งข้อบังคับดังกล่าวยังเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเฉพาะพนักงานของจำเลยให้สามารถทำงานร่วมกันด้วยความสงบสุข ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานข้อ 61.1 จึงใช้บังคับได้หาเป็นโมฆะไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด