คำพิพากษาฎีกาที่ 4653/56
ค่าเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายเดินทางเป็นสวัสดิการไม่ถือเป็นค่าจ้าง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ตำแหน่งรองประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการรับประกันและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เป็นทางเลือกตามสัญญาจ้างแรงงานฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2546 นอกจากเงินเดือนโจทก์ยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่างๆ เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่พอใจของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับการแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายสำหรับคนขับรถรายเดือน เดือนละ 18,000 บาท และจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายในอัตรา 0.002 ของยอดการเก็บเบี้ยประกันจากสามช่องทางขาย ซึ่งประกอบด้วยการขายผ่านตัวแทน ช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ที่เป็นหุ้นส่วน และการขายตรง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 โจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่ามีการปรับเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการจ้างงานให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2551 โดยโจทก์จะได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 83,097 บาท เหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 360,000 บาท ค่าที่อยู่อาศัยในอัตราเดือนละ 105,950 บาท ค่าพาหนะและค่าเดินทางในอัตราเดือนละ 62,100 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกเงินส่วนแบ่งจากยอดขายที่โจทก์ได้รับโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ภายหลังมีการประชุมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยทั้งสองยังคงยืนยันไม่จ่ายเงินส่วนแบ่งจากยอดขายให้แก่โจทก์และมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์สั่งพักงานโจทก์ โดยไม่มีกำหนดเวลา ทั้งไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าไปยังสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 จากนั้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินเดือน ค่าที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางเป็นเงิน 52,775 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 359,659 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 116,209 บาท ค่าชดเชย 2,158,171 บาท การจ่างเงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดเนื่องจากไม่นำค่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานแก่โจทก์มารวมเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,209,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 และเงินเพิ่มจากการจงใจไม่ชำระเงินตามกฎหมายแรงงานในอัตราร้อยละ 15 ทุกๆ ระยะเวลา 7 วัน ของเงิน 1,209,630 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 73,036 บาท ค่าชดเชย 2,708,129 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงิน 2,781,165 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 และเงินเพิ่มจากการจงใจผิดนัดไม่ชำระเงินตามกฎหมายแรงงานในอัตราร้อยละ 15 ทุกๆ ระยะเวลา 7 วัน ของเงิน 2,781,165 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินส่วนแบ่งจากยอดการขายของเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2551 เฉลี่ยเดือนละ 215,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,505,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป โบนัสตามข้อตกลงการจ่ายเงินโบนัสประจำปี พ.ศ. 2550 และข้อตกลงเรื่องเงินตอบแทนระยะยาวเป็นเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป เงินตามกองทุนบำเหน็จบำนาญตามสัญญา 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 4,055,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จำนวน 515,424 ดอลลอร์ฮ่องกงต่อปี แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนจำนวน 12 เดือนเท่าๆ กัน ค่าเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายสำหรับคนขับรถและเงินอื่นๆ ถือเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือโจทก์ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่ต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงมิใช่ค่าจ้างตามฟ้อง นอกจากนี้เงินส่วนแบ่งจากยอดขายมีลักษณะเป็นค่าคอมมิสชัน จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการ และมิได้จ่ายเป็นจำนวนที่แน่นอน จึงมิใช่ค่าจ้างเช่นกัน การยกเลิกการจ่ายเงินส่วนแบ่งจากยอดขายเป็นไปเพื่อให้แนวทางการบริหารงานของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลมีความเอก ภาพและสอดคล้องกันทั้งภูมิภาค และจำเลยที่ 1 ได้พูดคุยเจรจากับโจทก์ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งโดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แต่โจทก์กลับมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม และขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน การกระทำของโจทก์ไม่เหมาะสมและไม่สมควรและเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีทางอื่นใดนอกจากจะต้องพักงานโจทก์ไว้ก่อน ซึ่งระหว่างพักงานจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าจ้างและสวัสดิการให้แก่โจทก์ตามปกติ จำเลยที่ 1 พยายามเจรจากับโจทก์หลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จำเลยที่ 1 จึงต้องเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดความขัดแย้งในการบริหารงาน จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย เงินเดือน ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทางจนถึงวันบอกเลิกจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีครบถ้วนแล้ว ที่โจทก์มอบให้ทนายความทวงถามและขู่ว่าจะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้บริหาร จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะมีเหตุจำเป็นและสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ภายหลังเลิกจ้างโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงมิได้เสียโอกาสในการทำงานแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องจ่ายค่าเสียหายใดๆ แก่โจทก์อีก สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี และเมื่อโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้มาก่อน จึงคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 10 กันยายน 2551 เป็นต้นไป ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 335,715 บาท เงินส่วนแบ่งจากยอดขาย 1,283,031.40 บาท เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ 432,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อย 7.5 ต่อปี ของเงินแต่จะจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นๆ ให้แก่โจทก์ตามหนังสือจ้างงาน ระหว่างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 โดยนายเท็ดซี ริดจ์เวย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตกลงเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่โจทก์ 2 ประการคือ ค่าเบี้ยเลี้ยงคนขับรถรายเดือนละ 18,000 บาท และเงินส่วนแบ่งจากยอดขาย 0.002 ของยอดเก็บค่าเบี้ยประกันจากสามช่องทางคือ การขายผ่านตัวแทน การจัดจำหน่ายของผู้ที่เป็นหุ้นส่วน และการขายตรง โดยจะจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมกับเงินเดือน ข้อตกลงดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งขึ้นเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ให้แก่โจทก์และยกเลิกเงินส่วนแบ่งจากยอดขายให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป ภายหลังโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้จ่ายเงินส่วนแบ่งจากยอดขายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2551 และเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ค่าเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เบี้ยเลี้ยงสำหรับคนขับรถและเงินส่วนแบ่งจากยอดขาย เป็นค่าจ้างหรือไม่ ตามบทนิยามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างฯ....” ดังนั้นในการพิจารณาว่าเงินใดที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างหรือไม่ จึงต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างว่า เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างหรือไม่ โดยไม่จำต้องพิจารณาวิธีการจ่ายเงินแก่ลูกจ้างหรือรูปแบบการจ่ายเงินเป็นสำคัญเมื่อจำเลยที่ 1 จ่ายค่าเช่าที่พักและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือโจทก์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ต้องมาพักอาศัยในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือโจทก์ในการเดินทางและจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับคนขับรถ เพื่อให้โจทก์มีคนขับในการเดินทางระหว่างที่ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น ค่าเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเบี้ยเลี้ยงสำหรับคนขับรถจึงมิใช่การจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติอันเป็นค่าจ้าง หากแต่เป็นเงินสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือโจทก์เท่านั้น ส่วนเงินส่วนแบ่งจากยอดขายศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการจ่ายเงินส่วนแบ่งจากยอดขายเกิดจากประสิทธิ ภาพในการทำงานของทีมงานโจทก์ที่จะขายและเก็บค่าเบี้ยประกันภัยได้ตามยอดขายหรือไม่ หากทีมงานของโจทก์เก็บยอดขายได้น้อยโจทก์ย่อมได้รับผลประโยชน์จากยอดขายดังกล่าวน้อยด้วย เมื่อเงินส่วนแบ่งจากยอดขายขึ้นอยู่กับการทำงานของทีมงานโจทก์ มิใช่การทำงานตามปกติของโจทก์โดยตรง เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์แต่เป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ตั้งใจปฏิบัติงานตามหน้าที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมงานมากขึ้น เงินส่วนแบ่งจากยอดขายจึงมิใช่ค่าจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด