คำพิพากษาฎีกาที่ 6416/57
ค่ารถยนต์ซึ่งกำหนดเป็นสวัสดิการไว้ชัดเจนแยกจากฐานเงินเดือนปกติ ถือเป็นสวัสดิการไม่ใช่ค่าจ้าง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย ประกอบธุรกิจประเภทธนาคาร มีที่ทำการสาขาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานตำแหน่งผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย อัตราค่าจ้างเดือนละ 230,000 บาท มีกำหนดเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ต่อมาจำเลยต่ออายุสัญญาให้โจทก์อีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551 อัตราค่าจ้างเดือนละ 300,000 บาท ได้รับค่าพาหนะเดือนละ 50,000 บาท รวมค่าภาษีรถยนต์ ค่าซ่อมบำรุงและอื่นๆ กับค่าเช่าบ้านเดือนละ 60,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลโจทก์และครอบครัว ไม่เกินปีละ 140,000 บาท หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะเลิกสัญญาให้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับจำเลยอีกต่อไปจึงมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 จำเลย ได้รับหนังสือแล้วในวันเดียวกันได้มีหนังสือให้โจทก์ออกจากงานทันที โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 6 เดือนตามสัญญาเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและฝ่าฝืนสัญญาจ้างที่กำหนดไว้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 ปี ได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนแน่นอนคือเงินเดือนๆละ 300,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 60,000 บาท ค่ารถประจำตำแหน่ง 50,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6 เดือน เป็นเงิน 2,460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเลิกจ้างวันที่ 7 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 117,776.71 บาท รวมเป็นเงิน 2,577,776.61 บาท ค่าชดเชยจำนวน 1,230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 117,776.71 บาท จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินดังกล่าวทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินเพิ่ม 6,088.500 บาท รวมเป็นเงินค่าชดเชยจำนวน 7,436,276.71 บาท และจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของโจทก์และครอบครัวระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นเงิน 4,270 บาท ให้จำเลยดำเนินการให้โจทก์ได้รับชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่เป็นเงินสมทบฝ่ายนายจ้างซึ่งโจทก์ได้รับยังไม่ครบอีกเป็นเงินจำนวน 849,271.14 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 35,425.07 บาท รวมเป็นเงิน 884,696.21 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าชดเชย เงินค่ารักพยาบาลและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 10,903,019.63 บาท กับให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมจำนวน 3,309,271.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินค่าชดเชยจำนวน 1,230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าชดเชย 1,230,000 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทยของจำเลย สัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี และต่อสัญญาอีก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่วันที่ 1 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551 โจทก์ทำงานถึงวันที่ 7 มีนาคม 2550 แล้วได้ยื่นใบลาออกให้มีผลทันทีโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามสัญญาและตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าชดเชย จำเลยไม่มีหน้าที่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่บุตรและภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกองทุนที่โจทก์จำเลยเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินตามข้อบังคับของกองทุนและโจทก์ได้รับเงินไปจากกองทุนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายอีก ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจำเลย โจทก์ได้สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่ภรรยาและบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเงิน 427,300 บาท รวมเป็นเงิน 857,642 บาท โจทก์ลาออกโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยเท่ากับอัตราเงินเดือน ค่าเช่าบ้าน ค่ารถประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 410,000 บาท จำเลยขอคิดค่าเสียหายเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 1,230,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,087,642 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 2,087,642 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางสาวอุทุมพร ภาคบุปผา และเด็กชายอัครพนพันธ์ ไต้ เป็นภรรยาและบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนได้ตามสัญญาจ้าง จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน การเลิกสัญญาจ้างมีกำหนดไว้ในสัญญาว่า ต้องบอกกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน หนังสือบอกกล่าวลาออกของโจทก์มิได้ต้องการให้มีผลทันที จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดการจ้าง เมื่อจำเลยรับหนังสือแล้วมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกงานทันทีและห้ามโจทก์ไม่ให้เข้าไปทำงานในสถานประกอบการของจำเลยอีก จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงไม่ติดใจเรียกค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนบุตรตามฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1,800,000 บาท ค่าชดเชย 900,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล 4,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่ารักษาพยาบาลและอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน ค่าชดเชยนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ตามลำดับ แต่ดอกเบี้ยของเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินค่าชดเชยนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 ตุลาคม 2550) ให้ไม่เกินที่โจทก์ขอคำขออื่นของโจทก์ให้ยกกับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ประเทศมาเลเซียและมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทย เลขที่ 287 อาคารลิเบอร์ตี้สแควร์ ชั้น 10 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการสาขาในประเทศไทย จำเลยรับโจทก์เป็นพนักงานในตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 มีกำหนด 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2549 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 230,000 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2549 จำเลยต่ออายุสัญญาจ้างให้โจทก์อีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551 เพิ่มเงินค่าจ้างเป็นเดือนละ 300,000 บาท พร้อมค่ารถยนต์และคนขับเดือนละ 50,000 บาท ค่าที่พักอาศัยเป็นจำนวนสูงสุดเดือนละ 60,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลโจทก์และครอบครัวไม่เกินปีละ 140,000 บาท ค่าช่วยเหลือด้านการศึกษาของบุตรตามสัญญาและข้อกำหนดของสัญญาเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยมีหนังสือแจ้งสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการสืบสวนในข้อกล่าวหาว่าโจทก์ได้ทำการโอนเงินของโจทก์ผ่านทางบาทเน็ตเข้าไปยังบัญชีของบริษัทภาสติยาไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้กู้ของธนาคารและโอนเข้าไปยังบัญชีของบริษัท เมกาเทค แอนด์ แอซ โซซิเอส จำกัด อันอาจถูกตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันของผลประโยชน์ในหน้าที่ของโจทก์กับธนาคาร ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2550 ในระหว่างวันที่โจทก์ถูกพักงานโจทก์ยื่นจดหมายลาออกอันเป็นการบอกเลิกสัญญาให้มีผลล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน มิได้ให้มีผลเป็นการลาออกทันที แต่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์วันที่ 7 มีนาคม 2550 โดยที่ฟังไม่ได้ว่า โจทก์กระทำการที่ขัดกันของผลประโยชน์ในหน้าที่ของโจทก์กับธนาคารจำเลยตามที่จำเลยได้ตั้งข้อกล่าวหาโจทก์และมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อดำเนินการสืบสวนดังกล่าวจำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง แล้ววินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยแก่โจทก์
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของพยานฝ่ายจำเลยประกอบเอกสารในสำนวนแล้ว เป็นกรณีที่ฟังได้ว่า โจทก์ลาออกเองโดยมีผลทันทีมิใช่เป็นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ที่ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโจทก์ การอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมีการทำสัญญาจ้างแรงงานกันที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ประเทศมาเลเซีย การบังคับบัญชารวมถึงการลงโทษทางวินิจฉัยแก่โจทก์ขึ้นกับสำนักงานใหญ่ โจทก์ชอบที่จะฟ้องสำนักงานใหญ่ที่ประเทศมาเลเซีย ไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลแรงงานนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ค่ารถยนต์ที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์เดือนละ 50,000 บาท ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามสัญญาจ้างตกลงให้โจทก์ได้รับค่ารถยนต์เดือนละ 50,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีหลักฐานการเช่าหรือหลักฐานการเติมน้ำมันมาแสดง จึงถือเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งที่จะต้องนำมารวมกับเงินค่าจ้างอีกเดือนละ 300,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 350,000 บาท ที่จะต้องใช้เป็นหลักฐานคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย เห็นว่า เป็นเงินเดือนพื้นฐานเดือนละ 300,000 บาท ส่วนค่ารถยนต์ที่เป็นปัญหาโต้เถียงกันได้กำหนดว่าเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับค่ารถยนต์และคนขับเดือนละ 50,000 บาท โดยแยกไว้ต่างหากและให้รวมทั้งภาษีจากการใช้รถยนต์บนท้องถนน ค่าน้ำมัน ค่าประกันภัย ค่าซ่อมแซมและค่าบำรุงรักษากับค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องอย่างอื่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องที่พักไว้ด้วยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระเงินคืนเป็นสำหรับค่าเช่าบ้านเป็นจำนวนสูงสุด 60,000 บาท ต่อเดือนโดยไม่สามารถสะสมได้ การตกลงกันในลักษณะเช่นนั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นการจัดสวัสดิการให้โจทก์ได้รับความสะดวกเกี่ยวกับพาหนะที่จะต้องใช้ในการเดินทางไปทำงานรวมทั้งสวัสดิการที่พักอาศัยตามตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญของโจทก์ ดังนั้นค่ารถยนต์ที่จำเลยตกลงจ่ายให้เดือนละ 50,000 บาท จึงมิใช่ค่าตอบแทนในการทำงานที่จะถือเป็นค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด