คำพิพากษาฎีกาที่ 9922/57
ละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้าง ละเมิดสัญญาจ้าง มีอายุความ 10 ปี มิใช่ 1 ปี
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ เข้าทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2520 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการบัญชีประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับผู้จัดการกอง (WASEA) และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการบัญชีประจำเทศญี่ปุ่นภาคตะวันตก (OSAEA) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นเป็นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานสาขาหรือสถานีต่างประเทศ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานโจทก์ที่ประจำอยู่ที่ต่างประเทศตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 8 สิทธิและหน้าที่ของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำที่ต่างประเทศกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานที่ประจำอยู่ต่างประเทศได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการได้รับสิทธิให้ใช้บัตรโดยสารเครื่องบินโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ที่ประจำอยู่ และจากสถานที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำอยู่เดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย รวมตลอดถึงคู่สมรสและบุตรมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ ประเภทที่ 1 เป็นบัตรโดยสารแบบสำรองที่นั่งได้หรือแบบเอสวัน (S1) ซึ่งออกให้เฉพาะพนักงานโจทก์เท่านั้น เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปปฏิบัติงานให้โจทก์ โดยบัตรเอสวัน (S1) จะต้องใช้เดินทางภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือเดินทาง (Travel order) และใช้เดินทางตามเส้นทางบินที่กำหนดไว้เท่านั้น ประเภทที่ 2 เป็นบัตรโดยสารแบบสำรองที่นั่งไม่ได้หรือแบบเอสทู (S2) ซึ่งออกให้ทั้งพนักงาน คู่สมรสและบุตรของพนักงานเพื่อเดินทางมากรุงเทพมหานครและกลับ ปีงบประมาณละ 2 ครั้ง โดยหากคู่สมรสและบุตรของพนักงานมิได้ย้ายติดตามไปอยู่ต่างประเทศด้วย พนักงานจะได้รับบัตรเอสทู (S2) เพื่อเดินทางมาเยี่ยมครอบครัวที่กรุงเทพมหานครปีงบประมาณละ 4 ครั้ง ในการทำงานของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดไม่จำกัดจำนวน เมื่อปี 2545 โจทก์ตรวจสอบข้อมูลการใช้บัตรโดยสารประเภทต่างๆ รวมถึงบัตรโดยสารประเภทเอสวัน (S1) และเอสทู (S2) ของพนักงานโจทก์ที่ประจำอยู่ที่สำนักงานสาขาหรือสถานีต่างประเทศในประเทศต่างๆ พบว่าจำเลยที่ 1 ใช้บัตรโดยสารทั้งสองประเภทโดยฝ่าฝืนระเบียบบริษัทว่าด้วยการบริหารงานบุคคลตอนที่ 2 ข้อ 5.6 และ ข้อ 5.16 พ.ศ. 2537 ตอนที่ 8 ข้อ 15.1 และข้อ 15.2 พ.ศ. 2539 ข้อ 15.6 พ.ศ. 2546 ดังนี้ (1) จำเลยที่ 1 นำบัตรโดยสารประเภทเอสวัน (S1) มาใช้หลังสิ้นสุดระยะเวลาในหนังสือสั่งเดินทาง (2) จำเลยที่ 1 นำบัตรโดยสารประเภทเอสวัน (S1) มาเปลี่ยนเส้นทางการบินใหม่ และใช้เดินทางในเส้นทางที่ไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาตจากหนังสือสั่งเดินทาง และนำมาใช้หลังจากสิ้นสุดเวลาในหนังสือเดินทาง (3) จำเลยที่ 1 ขอใช้บัตรโดยสารประเภทเอสทู (S2) เกินกว่าสิทธิที่ได้รับในแต่ละปี (4) จำเลยที่ 1 นำบัตรโดยสารประเภทเอสทู (S2) ที่ยังใช้บินไม่ครบทุกเที่ยวบิน (flight coupou) มาเปลี่ยนเส้นทางบินและกำหนดปลายทางใหม่มีผลให้บัตรโดยสารฉบับดังกล่าวสามารถเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้ถึง 2 ครั้ง และ (5) จำเลยที่ 1 นำบัตรโดยสารประเภทเอสทู (S2) ซึ่งออกโดยใช้สิทธิจากการเป็นพนักงานประจำต่างประเทศที่สถานีเดิมต่ออายุบัตรโดยสารและใช้เดินทาง ณ สถานีใหม่ที่ไปรับตำแหน่งทั้งที่สิทธิดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อพนักงานไปรับตำแหน่งใหม่คือจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการบัญชีประจำสาขาเมืองโอซาก้าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2544 แต่ได้นำบัตรโดยสารที่ออกให้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้จัดการบัญชีประจำสำนักงานสาขากรุงวอชิงตัน (ดี.ซี.) มาใช้ในปี 2545 รวมเป็นค่าบัตรโดยสารที่จำเลยที่ 1 ใช้โดยฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,295,105 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ต่อมาโจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งมีมติให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าบัตรโดยสารที่ขอใช้ผิดระเบียบเป็นเงิน 1,295,105 บาท และได้แจ้งผลให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติยืนยันตามมติของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ต่อมาจำเลยที่ 1 ร้องขอความเป็นธรรม และได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 44,600 บาท จึงยังคงเหลือยอดหนี้ค้างชำระเป็นเงิน 1,250,505 บาท ต่อมาโจทก์ได้คำนวณค่าบัตรโดยสารใหม่ พบว่ามียอดหนี้ลดลงคงเหลือจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,075,480 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,075,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 1,075,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นลูกจ้างของโจทก์และได้ใช้บัตรโดยสารเครื่องบินตามประเภทและระยะเวลาที่โจทก์ฟ้อง แต่การกระทำไม่ผิดระเบียบของโจทก์ เนื่องจากในขณะที่มีการใช้บัตรโดยสารเครื่องบิน ไม่มีระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การใช้บัตร ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะหาผลประโยชน์อันมิควรได้หรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นการใช้บัตรโดยสารเกินกำหนดระยะเวลาแต่ไม่ได้ใช้เกินสิทธิที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ทั้งจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถกระทำได้และได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา การนำระเบียบที่ออกมาภายหลังมาบังคับแก่จำเลยที่ 1 และการกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์ได้นำระเบียบเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายแก่บัตรโดยสารเครื่องบินประเภทอาร์ (R) มาใช้เทียบเคียงกับการใช้บัตรโดยสารประเภทเอส (S) ประกอบกับการเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยคิดราคาเต็มจำนวนหน้าตั๋วโดยอ้างอิงจากระเบียบบริหารงานบุคคลตอนที่ 8 ที่ได้แก้ไขใหม่วันที่ 29 สิงหาคม 2546 มาเป็นเกณฑ์ในการเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม กรณีตามฟ้องมิใช่เรื่องผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เพราะขณะเกิดเหตุไม่มีระเบียบข้อบังคับตามที่อ้าง แต่เป็นกรณีละเมิดซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ภายในอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินผิดประเภทตาที่โจทก์ฟ้องจริง เนื่องจากคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระเบียบคำสั่ง จำเลยที่ 1 ติดใจเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเนื่องจากเป็นการใช้ระเบียบที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 1
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 537,740 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงินจำนวน 537,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์ข้อ 2 เฉพาะประเด็นที่ 2 และที่ 3 ของจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์อื่นนอกนั้นไม่รับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ประการแรกตามฟ้องโจทก์ประเด็นที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยสรุปว่า การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ มีอายุความ 1 ปี เมื่อโจทก์รู้การกระทำละเมิดและแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 ตามเอกสารหมาย จ.9 ถือว่าเป็นวันที่โจทก์รู้ตัวบุคคลทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแล้วภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 วันที่ 26 พฤษภาคม 2553 จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ในการทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นกรณีทำผิดระเบียบปฏิบัติในการใช้บัตรโดยสารเครื่องบินผิดระเบียบของโจทก์ จึงถูกลงโทษตักเตือนและให้ใช้ราคาบัตรโดยสารการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี เมื่อพฤติการณ์อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานเกิดตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 ต่อเนื่องกันและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ดังนั้นการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 1 จึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2520 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งพนักงานบัญชี จึงเป็นการค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหากจำเลยที่ 1 เปลี่ยนตำแหน่งหรือย้ายสาขาไปทำงานที่สำนักงานสาขาอื่นนั้น เมื่อคดี จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด