คำพิพากษาฎีกาที่ 9985/57
พฤติกรรมการจ้างที่ถือว่าเป็นการจ้างแรงงาน ถือเป็นลูกจ้าง / นายจ้างตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างนายพรต เนตร์สว่าง ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด นายพรตมีอำนาจในการบริหารจัดการงานด้วยตนเอง ไม่มีการกำหนดวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ต้องลงเวลามาทำงาน ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ นายพรตจึงไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์ ต่อมานายพรตยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่านายพรตเป็นลูกจ้างของโจทก์ ถูกโจทก์เลิกจ้างโดไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยสอบสวนแล้ววินิจฉัยว่านายพรตเป็นลูกจ้างของโจทก์และมีคำสั่งที่ 22/2551 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 20,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,000 บาท แก่นายพรต โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยเพราะคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 นายพรต เนตร์สว่าง ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 5 กรุงเทพมหานคร ว่านายพรตเป็นลูกจ้างของโจทก์ ถูกโจทก์เลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ขอให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายพรต จำเลยสอบสวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างนายพรตเข้าทำงานในกิจการซื้อขายพริกที่โจทก์นำเข้าจากประเทศอินเดียมาจำหน่าย ณ ตลาดรถไฟธนบุรี โดยจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ในการทำงานโจทก์จ่ายค่าน้ำมันรถให้นายพรตตามที่ใช้จริง ไม่มีการลงเวลาทำงาน นายพรตมีอำนาจในการบริหารและจัดการงานของตนเอง ต่อมาโจทก์เลิกนำเข้าพริกจากประเทศอินเดีย โจทก์จึงจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเดือนธันวาคม 2550 เป็น 20,000 บาท และเงินโบนัส 20,000 บาท แก่นายพรตเช่นเดียวกับลูกจ้างรายอื่น หลังจากนั้นไม่จ่ายค่าตอบแทนแก่นายพรตอีก นอกจากนี้โจทก์ยังแจ้งชื่อนายพรตเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนจากข้อเท็จดังกล่าวจำเลยจึงวินิจฉัยว่านายพรตมีฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์และการที่โจทก์ไม่มีงานให้นายพรตทำโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ถือเป็นการเลิกจ้างนายพรตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 นายพรตทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 22/2551 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 20,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,000 บาท แก่นายพรต คำสั่งของจำเลยดังกล่าวชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่านายพรต เนตร์สว่าง เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับสัมปทานให้บริหารและจัดหารผลประโยชน์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในตลาดสดสถานีรถไฟธนบุรีจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เดิมนายพรตเป็นผู้ค้าในตลาดสดสถานีรถไฟธนบุรีโดยเช่าแผงค้าในตลาดที่โจทก์ได้รับสัมปทานและเป็นตัวแทนของผู้ค้าในตลาดดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 โจทก์ตกลงว่าจ้างนายพรตให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดเพื่อให้คำปรึกษาด้านการตลาด รวมทั้งจัดการกิจการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรให้แก่โจทก์ โดยไม่มีการเขียนใบสมัครงาน ในการทำงานโจทก์ให้เงินทุน 100,000 บาท แก่นายพรตนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อสินค้าทางการเกษตร โจทก์ให้อำนาจแก่นายพรตในการบริหารจัดการด้วยตนเองโดยไม่กำหนดปริมาณงาน ไม่กำหนดวันและเวลาทำงาน ไม่มีการลงเวลาทำงาน ทั้งไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ทำทะเบียนประวัตินายพรต แต่นายพรตต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์โดยต้องทำรายงานการซื้อขายสินค้ารวมทั้งทำบัญชีรายรับรายจ่ายแสดงต่อโจทก์เดือนละครั้ง โจทก์จ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท เป็นประจำทุกเดือนตลอดเวลาที่ทำงานโดยไม่กำหนดปริมาณงานต้องทำมากน้อยเพียงใด และจ่ายค่าน้ำมันรถเท่าที่ใช้จริงแก่นายพรตเมื่อเดือนธันวาคม 2550 โจทก์ยกเลิกการนำเข้าพริกจากประเทศอินเดียจึงจ่ายค่าตอบแทนครั้งสุดท้าย 20,000 บาท และโบนัส 20,000 บาท ให้แก่นายพรต โดยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า วันที่ 7 พฤษภาคม 2551 นายพรตยื่นคำร้องต่อจำเลยให้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 22/2551 ให้โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวแก่นายพรต เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติคำนิยาม “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร และ “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ว่าจ้างนายพรตทำงานในหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการตลาด โดยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่กำหนดปริมาณงานว่าต้องทำมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องด้วยคำนิยามทั้งหมดดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ปรากฏอีกว่านายพรตต้องปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ให้ทำรายงานการซื้อขายสินค้ารวมทั้งทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้โจทก์ตรวจสอบทุกเดือน เป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือนายพรตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แล้ว แม้นายพรตไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในเรื่องอื่นก็ตาม จึงถือได้ว่านายพรตเป็นลูกจ้างของโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิจารณาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด