คำพิพากษาฎีกาที่ 5954/57
พนักงานขายรถยนต์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ประจำบูธ ตามที่ได้รับมอบหมาย ถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานหน้าที่พนักงานขายประจำสาขารังสิต – นครนายก ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยการขายรถยนต์อัตราสุดท้าย 3 เดือน ย้อนหลัง เป็นเงิน 114,688 บาท เฉลี่ยเดือนละ 38,229.33 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2551 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และทรัพย์สินของจำเลย เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงาน ถือเป็นกรณีร้ายแรง จึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2551 ความจริงโจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่ แต่โจทก์ป่วยไม่สามารถไปทำงานทันเวลาเริ่มต้นทำงานของจำเลยได้ เมื่ออาการดีขึ้นโจทก์จึงไปทำงานเวลา 12.30 น. จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทำงานติดต่อกันมานานกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 90 วัน เป็นเงิน 114,688 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 รวม 60 วัน เป็นเงิน 76,458.66 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 76,458.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปและค่าชดเชย จำนวน 114,688 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ในตำแหน่งพนักงานประจำสาขารังสิต – นครนายก มีหน้าที่ขายรถยนต์ โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานจากการขายรถยนต์ในแต่ละเดือนภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนถัดไป ในเดือนธันวาคม 2550 โจทก์ได้ค่าจ้างจากการขายรถยนต์ จำนวน 79,897 บาท เดือนมกราคม 2551 โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากขายไม่ได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ได้รับค่าจ้างจากการขายรถยนต์ 30,302 บาท รวมเป็นเงิน 110,199 บาท เฉลี่ยเดือนละ 36,733 บาท จำเลยได้เช่าพื้นที่บริเวณศูนย์วิทยุชุมชนคลองสาม ถนนรังสิต - นครนายก เพื่อเปิดบูธสำหรับแสดงและขายรถยนต์ ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2551 โดยจัดรถยนต์จำนวน 2 คัน และกำหนดให้พนักงานขายซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยไปอยู่เวรประจำบูธดังกล่าว ผู้จัดการสาขารังสิต - นครนายก ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานขายทุกคนอยู่ประจำบูธตามวันเวลาที่กำหนด โดยวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 15.00 ถึง 20.00 น. และวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 10.00 ถึง 20.00 น. หากพนักงานขายคนใดละทิ้งหน้าที่จะลงโทษขั้นปลดออก ต่อมาวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นเวรที่โจทก์จะต้องทำหน้าที่ประจำบูธ ผู้จัดการสาขาได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่แสดงรถดังกล่าวกลับไม่พบโจทก์ถือว่าโจทก์มีเจตนาละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และทรัพย์สินของจำเลยซึ่งมีมูลค่ามาก ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีรถยนต์สูญหายหลายครั้ง การทิ้งงานและทรัพย์สินไปโดยไม่มีผู้ใดดูแล จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ป้องกันทรัพย์สินของจำเลย และมีเจตนาทำให้จำเลยเสียหาย การละทิ้งหน้าที่และทรัพย์สินของจำเลยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง และขาดความสามารถในการทำงาน หรือทำงานหย่อนประสิทธิภาพไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ต่อไป จำเลยจึงมีสิทธิปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 110,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 12 มีนาคม 2551) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 71,018 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2551) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2549 ตามใบสมัครเข้าทำงานเอกสารหมาย ล.3 ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยจากการขายรถยนต์ จำเลยออกข้อบังคับการทำงานฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ตามเอกสารหมาย ล.4 วันเสาร์ ที่ 8 มีนาคม 2551 จำเลยจัดให้โจทก์ประจำที่บูธศูนย์วิทยุชุมชนคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้โจทก์ขายรถยนต์อีซูซุในช่วงเวลา 10 น. ถึง 20 น. ในวันดังกล่าวนางสาวพนิดา ยกมาพันธ์ ผู้จัดการจำเลย สาขารังสิต – นครนายก ขับรถยนต์มาถึงบูธดังกล่าวไม่พบโจทก์ พบแต่ทรัพย์สินของจำเลยที่นำไปไว้ที่บูธ มีรถยนต์ 2 คัน ราคา 500,000 บาทเศษและ 600,000 บาทเศษ โต๊ะ เก้าอี้ และเอกสารต่างๆ นางสาวพนิดาโทรศัพท์สอบถามโจทก์ โจทก์จึงมาที่บูธเวลา 12.30 น. ช้ากว่ากำหนด 2 ชั่วโมงครึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติงานไม่อุทิศเวลาให้แก่งาน ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่เอาใจใส่ดูแลทรัพย์สินของจำเลยที่บูธถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 แต่การที่โจทก์ไม่อยู่บูธในเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ปรากฏทรัพย์สินของจำเลยภายในบูธสูญหายหรือจำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดวินัยหรือข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตักเตือนเป็นหนังสือจึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ( 4 ) แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่าค่าเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดวินัยข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนซึ่งเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยเปิดบูธขายรถยนต์ในวันเสาร์ระหว่างเวลา 10 น. ถึง 20 น. เนื่องจากในวันหยุดประชาชนมีการสัญจรไปมาจำนวนมากและเข้ามาเยี่ยมชมหรือซื้อรถยนต์ที่บูธได้มากขึ้นและสะดวกกว่ามาที่บริษัทจำเลยเพราะอยู่ใกล้ชุมชนมากกว่า เป็นการส่งเสริมการขายเพื่อให้ขายรถยนต์ได้มากขึ้น ทั้งเป็นการแสดงให้คนเห็นว่ารถยนต์ยี่ห้ออีซูซุเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมีจุดบริการและจำหน่ายอยู่ทั่วไป การเปิดบูธแสดงและจำหน่ายรถยนต์เช่นนี้จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจำหน่ายในวันปกติทั้งจำเลยมีต้นทุนในการเช่าพื้นที่เพื่อเปิดบูธ การที่โจทก์ไม่มาปฏิบัติงานประจำที่บูธตามที่ได้คำสั่งจนนางสาวพนิดามาพบเข้าจึงโทรศัพท์สอบถามโจทก์จึงมาเปิดบูธเวลา 12.30 น. ล่วงเลยกำหนดเวลาเปิดไปถึง 2 ชั่วโมงครึ่งย่อมทำให้จำเลยเสียผลประโยชน์ที่จะพึงได้จากการขายรถในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งที่จำเลยต้องเช่าพื้นที่เพื่อเปิดบูธดังกล่าว และยังเสียภาพพจน์ของบริษัทและสินค้าด้วย ทั้งตามพฤติการณ์ยังส่อว่าหากนางสาวพนิดาไม่มาพบและโทรศัพท์สอบถามโจทก์ โจทก์คงจะทิ้งบูธไม่มาปฏิบัติงานทั้งวันซึ่งอาจทำให้ทรัพย์สินของจำเลยสูญหายได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นความผิดวินัยหรือข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.4 หมวดที่ 6 กฎแห่งความประพฤติข้อที่ 1 ที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามวินัยโดยเคร่งครัดคือ (1) ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (13) ต้องช่วยกันระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินมิให้สูญหาย (19) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่กลั่นแกล้ง หรือจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งเมื่อโจทก์กระทำผิดวินัยดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรงจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างหรือปลดโจทก์ออกโดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือตามการลงโทษทางวินัยข้อ 2 ( 4 ) ปลดออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ( 4 ) และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด