คำพิพากษาฎีกาที่ 5700/57
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระบุให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุคนล้นงาน ปรับลด ขนาดองค์กรได้ ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างอัตราสุดท้าย เดือนละ 52,500 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยไม่มีเหตุเลิกจ้างตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,312,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากจำเลยมีงานน้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงเกิดปัญหาพนักงานมีจำนวนมากกว่าปริมาณงานทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ้างพนักงานได้ทั้งหมด แต่เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยสามารถดำเนินการต่อไปได้ จำเลยต้องเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1 เรื่องการเลิกจ้างกำหนดไว้ว่า จำเลยอาจเลิกจ้างพนักงานในกรณีดังต่อไปนี้ ข้อ 8.1.1 “เมื่อพนักงานมีจำนวนมากเกินกว่าปริมาณงานของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการปรับปรุงกิจการ การปรับหน่วยงาน การปรับรื้อระบบ การลดขนาดองค์กร หรือการเลิกกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นต้น” จำเลยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดพนักงานออกจากงาน โจทก์เป็นพนักงานที่อยู่ในหลักเกณฑ์จะต้องถูกปรับออกจากงานจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานทุกประการและจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยมีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจัดทำแผนดำเนินงานและเป้าหมายในปี 2552 ตามเอกสารหมาย ล.3 โดยระบุเป้าหมายไว้ว่ายอดรับงานลูกค้าในปี 2552 จำนวน 1,800 ล้านบาท การสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรและพนักงาน ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมฝ่ายก่อสร้างและฝ่ายบริหารซึ่งควบคุมดูแลงานต่างๆ ทุกแผนกของจำเลยว่ามีมติในเรื่องการปรับลดพนักงาน นโยบายปรับลดพนักงานเกิดขึ้นภายหลังการจัดทำแผนตามเอกสารหมาย ล.3 และมิได้อยู่ในผลพิเคราะห์แผนงานจำเลยไม่ได้ใช้มาตรการอื่นใดเพื่อลดค่าใช้จ่ายจำเลยมุ่งประ สงค์ ที่จะใช้มาตรการเดียวคือเลิกจ้างพนักงานเท่านั้นนับแต่ปี 2549 – 2551 ในปี 2549 จำเลยได้รับงานเข้ามามีมูลค่าสูงถึง 3,714 ล้านบาท ผลกำไร 37 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 206 ล้านบาท ใน 2550 งานลดลงมีมูลค่า 3,036 ล้านบาท กลับมีผลกำไร 218 ล้านบาท กำไรสะสม 13 ล้านบาท และในปี 2551 รับงานมูลค่าลดลงเพียง 2,059 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการรับงานในปี 2549 จำนวนกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ก็ได้กำไรถึง 150 ล้านบาท และยังมีกำไรสะสมจำนวน 163 ล้านบาท แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วในปี 2549 งานที่เข้ามามีมูลค่ามากที่สุดแต่กลับขาดทุนสะสมจำนวนมากที่สุดและมีผลกำไรเพียง 37 ล้านบาท เมื่อรวมผลประกอบการ 3 ปี ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 – 2551 นอกจากจำเลยจะไม่ประสบภาวะขาดทุนแล้ว จำเลยยังมีรายได้จากผลประกอบการโดยมีกำไรสุทธิรวม 305 ล้านบาท และกำไรสะสมรวม 176 ล้านบาท อีกทั้งตามใบประเมินผลการทำงานเอกสารหมาย ล.6 ในหัวข้อการประสานงานปฏิบัติการเชิงรุกการพัฒนาบุคลากร และคุณภาพงานโจทก์ได้คะแนนอย่างละ 4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เมื่อรวมการประเมินทุกหัวข้อโจทก์ได้ 79 คะแนน จาก 100 คะแนน ถือว่าเป็นคะแนนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ดี จำเลยมีรายได้เพียงพอที่จะจ้างพนักงานในการบริหารธุรกิจก่อสร้างต่อไป จำเลยไม่อาจอ้างข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 8.1.1 “เมื่อพนักงานมีจำนวนมากเกินกว่าปริมาณงานของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการปรับปรุงกิจการ การปรับหน่วยงาน การปรับรื้อระบบ การลดขนาดองค์กร หรือการเลิกกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นต้น” และข้อ 8.1.2 “เมื่อพนักงานมีพฤติกรรมที่บริษัทไม่อาจจ้างให้ทำงานต่อไปได้” ตามเอกสารหมาย ล.4 มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงที่จำ เลยนำสืบ เพราะจำเลยนำสืบต่อสู้ในประเด็นที่จำเลยมีปริมาณงานน้อยแต่มีพนักงานมากทำให้เกิดภาวะคนล้นงาน จำเลยต้องแบกรับภาระจ่ายค่าจ้าง เมื่อจำเลยคาดการณ์ว่าปี 2552 ปริมาณงานจะลดลงอีก จำเลยจึงจำเป็นต้องวางแผนไว้รองรับอนาคตโดยเริ่มเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งผลประกอบการในปีที่ผ่านมาจะมีกำไรหรือขาดทุนจำเลยไม่ได้นำมาประกอบแผนการดำเนินงานแต่อย่างใด ทั้งตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 8.1.1 ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยสามารถเลิกจ้างพนักงานได้กรณีที่มีปริมาณงานน้อยและไม่สมดุลกับพนักงานหรืออีกความหมายหนึ่งคือคนล้นงาน ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เพื่อให้จำเลยยืดหยุ่นขนาดองค์กรหรือจำนวนพนักงาน ให้สอดคล้องสมดุลกับปริมาณงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีการประเมินผลการทำงานแต่ประการใดหรือกำหนดไว้ในแผนงานแต่ละปีอีกเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อน จำเลยเลิกจ้างพนักงานอื่นก่อนเลิกจ้างโจทก์ถึง 66 คน ทุกคนยึดถือตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสภาพการจ้างหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.4 และสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยก็ชำระให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า แม้จำเลยจะเลิกจ้างพนักงานได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1.1 “เมื่อพนักงานมีจำนวนมากเกินกว่าปริมาณงานของบริษัท ซึ่งอาจเกิดจากการปรับปรุงกิจการ การปรับหน่วยงาน การปรับรื้อระบบ การลดขนาดองค์กร หรือการเลิกกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นต้น” ก็ตามแต่การเลิกจ้างโดยอ้างเหตุดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ก็ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีความจำเป็นหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่เพียงใด คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีกำไรสุทธิ 305 ล้านบาท กำไรสะสม 176 ล้านบาท และยังได้ข้อเท็จจริงจากนางกัลยารัตน์ ศรีนาราง ผู้รับมอบอำนาจจำเลย นางสุวรรณี พลกล้า และนายสิทธิชัย สิริพันธนะผู้จัดการทั่วไป ว่าในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยอ้างว่าเศรษฐกิจถดถอย จำเลยปรับเงินเดือนและจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน กลางปี 2552 จำเลยปรับเงินเดือนให้พนักงานเช่นกัน จำเลยไม่ได้ใช้มาตรการอื่นในการเลิกจ้าง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อคอมพิวเตอร์ โบนัส การปรับเงินเดือนและการอบรมสัมมนาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของจำเลยที่ทำให้จำเลยเข้มแข็งขึ้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสบภาวะเศรษฐกิจหรือคนล้นงานดังที่อ้าง จำเลยสามารถที่จะใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อพยุงฐานะของจำเลยได้นอกจากการเลิกจ้าง จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องการได้ประโยชน์จากการประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้คำนึงถึงความเดือนร้อนของลูกจ้างทั้งๆ ที่ลูกจ้างก็มีส่วนทำให้นายจ้างได้กำไรจากการประกอบกิจการติดต่อกันมาหลายปี ยังไม่มีความจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่อาจอ้างข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 8.1.1 ตามเอกสารหมาย ล.4 มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด