คำพิพากษาฎีกาที่ 3726/57
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีตัดสิทธิ์รับเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์หากกระทำผิดถูกปลดออกจากงานบังคับใช้ได้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เคยเป็นพนักงานของการเคหะแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2519 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารการก่อสร้าง 1 พนักงานบริหารงานออกแบบก่อสร้าง ระดับ 9 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งการเคหะแห่งชาติและพนักงานตกลงกันจัดตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2538 โจทก์เป็นสมาชิกของจำเลย ได้จ่ายเงินสะสมจากค่าจ้างที่ได้รับจากการเคหะแห่งชาติเข้ากองทุนจำเลยและการเคหะแห่งชาติในฐานะนายจ้างได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลย ซึ่งจำเลยได้มอบให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการกองทุนหาประโยชน์ให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 มีจำนวนเงินที่เป็นเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมรวม 648,188.40 บาท และมีส่วนที่เป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบส่วนของนายจ้างรวม 2,811,015.66 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงานของโจทก์เนื่องจากจะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 การเคหะแห่งชาตินายจ้างได้มีคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 เป็นต้นไป โดยกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้การเคหะแห่งชาตินายจ้างได้รับความเสียหาย ตามคำสั่งที่ ข.116/2552 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 เป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสมาชิกภาพ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2552 หลังจากโจทก์สิ้นสมาชิกภาพแล้ว โจทก์ได้ยื่นเรื่องขอรับเงินสะสมของโจทก์และเงินสมทบของการเคหะแห่งชาติพร้อมผลประโยชน์จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์เฉพาะส่วนที่เป็นเงินสะสมพร้อมผลประโยชน์ของเงินสะสมจำนวน 648,188.40 บาท โดยไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 2,811,015.66 บาท ให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถจ่ายให้แก่โจทก์ได้เพราะโจทก์ถูกการเคหะแห่งชาตินายจ้างปลดออกตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 34 (2) โจทก์เห็นว่าข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 ไม่อาจใช้บังคับได้ นอกจากนี้เหตุผลที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับนี้ก็เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานแม้โจทก์จะถูกนายจ้างปลดออกจากงานเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสมาชิกภาพก็เป็นกรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่กองทุนเลิก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบทั้งหมดครั้งเดียวจากจำเลยภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 2,811,015.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์และเป็นสวัสดิการตลอดจนเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวเมื่อสมาชิกลาออกจากงานหรือลาออกจากกองทุนหรือตาย โดยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยไม่จ่ายเงินในส่วนที่การเคหะแห่งชาตินายจ้างโจทก์สมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินสมทบ 2,811,015.66 บาท ให้แก่โจทก์ เพราะการเคหะแห่งชาตินายจ้างของโจทก์ปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานก่อนเกษียณอายุเนื่องจากโจทก์กระทำผิดระเบียบวินัยฐานประมาทเลินเล่อทำให้การเคหะแห่งชาตินายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขึ้นปลดออก ตามคำสั่งที่ ข.116/2552 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามเงื่อนไขของข้อบังคับของจำเลย ข้อ 34 (2) ข้อบังคับของจำเลยเป็นข้อบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมการเคหะแห่งชาติมีกองทุนสงเคราะห์เป็นสวัสดิการให้แก่พนักงานโดยพนักงานไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน มีหลักเกณฑ์การจ่ายโดยจะจ่ายให้แก่พนักงานที่ต้องออกจากงานถ้าพนักงานนั้นมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปี และมิได้ถูกลงโทษทางวินัยถึงขั้นปลดออกเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ต่อมาปี 2538 การเคหะแห่งชาติและพนักงานของการเคหะแห่งชาติได้ตกลงกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการเคหะแห่งชาติซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลย) ขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น และได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วยเงินลูกจ้างจ่ายสะสมเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบรวมทั้งเงินและทรัพย์ สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวการเคหะแห่งชาติกับพนักงานได้ร่วมกันกำหนดข้อบังคับกองทุนขึ้นและการเคหะแห่งชาติได้โอนกองทุนสงเคราะห์ดังกล่าวของพนักงานการเคหะแห่งชาติที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยเข้าเป็นเงินสมทบก้อนแรกในกองทุนจำ เลย พนักงานการเคหะแห่งชาติผู้ใดจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยหรือไม่ก็ได้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพได้กำ หนดไว้ในข้อ 34 (2) ว่าสมาชิกจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกทำงานครบ 5 ปี ขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่สมาชิกลาออกจากกองทุนและหรือสมาชิกผู้นั้นได้กระทำผิดระเบียบวินัยถึงขั้นปลดออกตามข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติซึ่งสมาชิกผู้นั้นจะได้รับเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น โจทก์เป็นลูกจ้างของการเคหะแห่งชาติและเป็นสมาชิกของจำเลย โจทก์จะครบเกษียณอายุงานในวันที่ 30 กันยายน 2552 แต่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากงาน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อขอรับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบจากจำเลย จำเลยได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์แล้วแต่ไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์โดยอ้างว่าตามข้อบังคับของจำเลยข้อ 34 (2) จำเลยไม่สามารถจ่ายให้แก่โจทก์ได้เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบวินัยถึงขั้นปลดออกตามข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติ
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพของจำเลยข้อ 34 (2) ขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 นั้น เห็นว่า แม้ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก และผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างโดยให้จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพก็ตาม แต่การที่ผู้จัดการกองทุนจะจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เมื่อการเคหะแห่งชาตินายจ้างกับลูกจ้างได้ร่วมกันกำหนดข้อบังคับกองทุนขึ้นและข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพได้กำหนดไว้ในข้อ 34 (2) ว่า สมาชิกจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกทำงานครบ 5 ปี ขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำผิดระเบียบวินัยถึงขั้นปลดออกตามข้อบังคับของการเคหะแห่งชาติซึ่งสมาชิกผู้นั้นจะได้รับเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น และในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นกระทำขึ้นโดยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นสวัสดิการแก่ลูก จ้างเป็นสำคัญ ข้อยกเว้นในการตัดสินของสมาชิกไม่ให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบหากกระทำผิดระเบียบวินัยถึงขั้นปลดออกจึงมิใช่ข้อกำหนดที่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศ จากเหตุอันสมควรตามมาตรา 9 (8) ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ของกองทุน และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 แล้ว ดังนั้น ข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพข้อ 34 (2) จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 เมื่อโจทก์เป็นสมาชิกที่ได้กระทำผิดระเบียบวินัยถึงขั้นปลดออกตามข้อบังคับของการเคหะแห่งชาตินายจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบในส่วนของการเคหะแห่งชาติ นายจ้างจากกองทุนจำเลยตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด