คำพิพากษาฎีกาที่ 2430 - 57
ทะเลาะวิวาทกัน นอกเวลางาน นอกบริเวณบริษัทฯ ไม่ถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ได้พิจารณามีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง 3 ราย ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 17/2553 ดังนี้ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 68,182 บาท แก่นางสาวพริรตา ใจยาว จำนวน 68,802 บาท แก่นางสาวศุณิฎา อุ่นสถานนท์ จำนวน 69,632 บาท แก่นางสาวสุวลี วิริยอนันต์เสรี โจทก์ไม่เห็นชอบด้วย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 17/2553 ลงวันที่ 5 เมษายน 2553
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิ การและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ที่ 17/2553 เรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ระหว่างนางสาวพริรตา ใจยาว กับพวกรวม 3 คน ลูกจ้างกับโจทก์ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวพริรตา ใจยาว นางสาวศุณิฎา อุ่นสถานนท์และนางสาวสุวลี วิริยอนันต์เสรี ต่างเป็นพนักงานของโจทก์ทำงานอยู่ในแผนกเดียวกัน วันที่ 16 มกราคม 2553 นางสาวสุวลีและนางสาวศุณิฎามีปากเสียงกับนางสาวเต็มศิริ ตันติพันธุ์ไชย ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในเรื่องกำหนดรอบการพักรับประทานอาหาร นางสาวเต็มศิริ ได้พูดด่านางสาวศุณิฎาว่าเป็นกะหรี่ หลังจากนั้นเกิดการโต้เถียงและด่าว่ากันจนมีคนมาห้ามและต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไป ภายหลังเลิกงาน นางสาวสุวลี นางสาวศุณิฎาและนางสาวพริรตาไปพบนางสาวเต็มศิริบริเวณทางเข้าหอพักของนางสาวเต็มศิริหลังโรงพยาบาลลาดพร้าวกรุงเทพมหานครและได้มีการทำร้ายร่างกายกันโจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำของลูกจ้างทั้งสามเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จึงเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสามโดยไม่จ่ายค่าชดเชย วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 นางสาวพริรตา นางสาวสุวลีและนางสาวศุณิฎายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วเห็นการกระทำของลูกจ้างทั้งสามไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 (4) จึงมีคำสั่งที่ 17/2553 ลงวันที่ 5 เมษายน 2553 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างทั้งสาม แล้ววินิจฉัยว่าสาเหตุที่เกิดเป็นคดีนี้ เพราะนางสาวเต็มศิริไม่พอใจกำหนดรอบการพักรับประทานอาหารและได้ด่าทอพวกของลูกจ้างทั้งสาม อีกทั้งยังได้ใช้คำพูดด่านางสางศุณิฎาว่าเป็นกะหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามนางนาวศุณิฎาอย่างร้ายแรง เป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และของลูกผู้หญิงด้วยกัน นางสาวเต็มศิริจึงเป็นผู้ก่อเหตุก่อน หากนางสาวเต็มศิริไม่พอใจเรื่องของกำหนดรอบการพักรับประทานอาหารก็ไม่ควรไปด่าทอนางสาวศุณิฎาให้ได้รับความอับอายและควรนำเรื่องไปร้องเรียนผู้บังคับบัญชาให้แก้ไข การที่ลูกจ้างทั้งสามไปพบนางสาวเต็มศิริที่บริเวณทางเข้าหอพักของนางสาวเต็มศิริ หลังเลิกงานแล้วเกิดการด่าทอและมีการทำร้ายร่างกายกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเลิกงานและเป็นบริเวณนอกสถานที่ทำงานอีกทั้งอาการบาดเจ็บของนางสาวเต็มศิริตามความเห็นของแพทย์รักษาเพียง 7 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าไม่ใช่บาดเจ็บสาหัส และต้นเหตุของการทำร้ายร่างกายกันก็เกิดจากนางนาวเต็มศิริ มิใช่เกิดจากลูกจ้างทั้งสามแต่ประการใด กรณีจึงไม่เป็นความผิดร้ายแรง การที่จำเลยให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างทั้งสามจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การกระทำของลูกจ้างทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณืว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากความไม่พอใจเรื่องการกำหนดรอบการพักรับประทานอาหารที่ไม่ตรงกันการที่นางสาวเต็มศิริด่าว่านางสาวศุณิฎาว่าเป็นกะหรี่เป็นเรื่องปกติของปุถุชนธรรมดาที่ทะเลาะวิวาทกันย่อมต้องมีการพูดที่ไม่สุภาพด่าว่ากัน และเมื่อนางนาวเต็มศิริไม่เอาเรื่องกับลูกจ้างทั้งสามแล้วนางสาวเต็มศิริก็ทำงานปกติต่อไปแต่ลูกจ้างทั้งสามกลับนัดหมายกันไปดักรอนางสาวเต็มศิริที่บริเวณที่พักของนางสาวเต็มศิริอีก จึงมีการทะเลาะวิวาทและรุมทำร้ายร่างกายกันซึ่งเป็นเหตุที่เกิดจากการทำงานนั้นเอง และกรณีจะเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่จะต้องดูที่เจตนาของการทำร้าย มิใช่ดูอาการบาดเจ็บของนางสาวเต็มศิริว่าต้องถึงกับได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ การกระทำของลูกจ้างทั้งสามผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์หมวดที่ 11.1 เรื่องวินัยทั่วไป ข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 12 โจทก์จึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามข้อ 13.6 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ หมวดที่ 11.1 เป็นระเบียบให้พนักงานต้องปฏิบัติ โดยข้อ 1 ระบุว่าพนักงานต้องประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอยู่ในระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม หรือหน่วยงานภายนอกที่บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ไม่ประพฤติชั่ว กระทำหรือร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมายทั้งในและนอกบริเวณของบริษัทฯ ข้อ 3 ระบุว่าพนักงานต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ประกาศและข้อบังคับต่างๆ ของบริษัทฯ ข้อ 4 ระบุว่าพนักงานต้องประพฤติตนในกรอบศีลธรรมอันดีงามและกฎหมายของบ้านเมืองบ ส่วนข้อ 12 ระบุว่าพนักงานจะต้องมีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย มีกริยาใช้วาจาสุภาพ ไม่ดูหมิ่น ล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง ไม่ทำการข่มขู่ ไม่ทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงานในบริเวณบริษัทฯ หรือระหว่างที่ยังสวมเครื่องแบบพนักงานของบริษัทฯ อยู่ จะเห็นได้ว่า ระเบียบข้อบังคับข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 เป็นระเบียบให้พนักงานต้องประพฤติปฏิบัติเป็นพนักงานที่ดี อันเป็นระเบียบปฏิบัติกว้างๆ ไม่กำหนดเจาะจงมุ่งเน้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ ส่วนในเรื่องการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันนั้นได้กำหนดไว้ในข้อ 12 อย่างชัดเจน โดยข้อห้ามข้อนี้ระบุว่าห้ามกระทำไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงานในบริเวณบริษัทฯหรือระหว่างที่ยังสวมเครื่องแบบพนักงานของบริษัทฯ อยู่ ซึ่งมุ่งเน้นให้เห็นว่าห้ามมิให้เกิดขึ้นในบริเวณบริษัทฯ หรือหากแม้ไม่ใช่ในบริเวณบริษัทฯ ก็ต้องไม่อยู่ในระหว่างที่ยังสวมเครื่องแบบพนักงานของบริษัทอยู่คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานท้ายคำฟ้องระบุชัดเจนว่าเหตุเกิดนอกบริเวณบริษัทฯ และลูกจ้างก็ไม่ได้ใส่เครื่องแบบพนักงานของบริษัทฯ จึงไม่เป็นกรณีข้อ 12 โดยตรง เมื่อการด่าทอและทำร้ายร่างกายนางสาวเต็มศิริในช่วงหลังเกิดขึ้นหลังจากเลิกงานแล้วและเกิดขึ้นที่บริเวณทางเข้าหอพักของนางสาวเต็มศิริหลังโรงพยาบาลลาดพร้าวนอกบริเวณบริษัทฯ จึงไม่เป็นกรณีที่ข้อ 12 มุ่งเน้นห้ามไว้ และแม้สาเหตุที่เกิดการด่าทอและทำร้ายร่างกายกันในตอนหลังนี้จะเกิดจากความไม่พอใจเรื่องกำหนดรอบการพักรับประทานอาหารในที่ทำงานแต่ก็มีการแยกย้ายกันไปทำงานต่อแล้ว การกระทำในช่วงหลังจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เลิกกันไปแล้ว เมื่อการกระทำในช่วงหลังมิได้เกิดขึ้นในบริเวณบริษัทฯ และหลังเลิกงานแล้ว แม้จะสืบเนื่องมาจากความไม่พอใจเรื่องกำหนดรอบการพักรับประทานอาหารนั้นเอง ความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์หากพึงมีจึงไม่รุนแรงมากนัก ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำร้ายร่างกายนอกบริษัท โจทก์โดยตรงย่อมเป็นนางสาวเต็มศิริเสียมากกว่าส่วนที่โจทก์อ้างว่าความผิดร้ายแรงหรือไม่มิได้พิจารณาจากอันตรายที่นางสาวเต็มศิริได้รับแต่ต้องดูที่เจตนาของการทำร้ายกันนั้นเห็นว่าแม้จะพิจารณาจากการกระทำของลูกจ้างทั้งสามดังที่โจทก์อ้าง แต่ก็ได้วินิจฉัยไว้แต่แรกแล้วว่าการด่าทอกันและทำร้ายร่างกายกันในช่วงหลังเกิดขึ้นนอกบริเวณบริษัทฯ โจทก์หลังเลิกงานแล้ว ความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์หากพึงมีก็มีก็ไม่รุนแรงมากนัก จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางไม่เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานและพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด