คำพิพากษาฎีกาที่ 6412 - 6413
วันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วน
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,094 บาท โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริการ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 79,794 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ในเดือนมีนาคม (ที่ถูก ควรเป็นมีนาคม 2552) จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 เพียง 72,884.93 บาท คงค้างจ่าย 11,213.07 บาท และให้โจทก์ที่ 2 เพียง 21,278.40 บาท คงค้างจ่าย 18,618.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 11,213.07 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 18,613.60 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างจำเลยแต่ลาออกแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 และวันที่ 16 มีนาคม 2552 ตามลำดับ จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานครบสัญญาจ้าง 1 ปี และทำงานต่อในปีถัดไป มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง แต่ต้องยื่นใบลาล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากหัวหน้างานก่อน และไม่สามารถนำวันหยุดสะสมในปีก่อนมารวมได้ ปี 2552 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำงานเพียง 2 เดือน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเพียงคนละ 1 วัน แต่โจทก์ที่ 1 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2552 จนถึงวันที่การลาออกมีผลซึ่งหักด้วยสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 1 วัน ถือว่าขาดงาน 8 วัน โจทก์ที่ 2 หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 จนถึงวันที่การลาออกมีผล ซึ่งหักด้วยสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 1 วัน ถือว่าขาดงาน 9 วัน จำเลยจึงหักค่าจ้างของเดือนมีนาคม 2552 ในส่วนของโจทก์ที่ 1 จำนวน 5 วัน และโจทก์ที่ 2 จำนวน 7 วัน แล้วจำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนมีนาคม 2552 ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 26 วัน และ 8 วัน ตามลำดับ อันเป็นจำนวนมากกว่าที่โจทก์ทั้งสองจะพึงได้รับ จำเลยจึงไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างเดือนมีนาคม 2552 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 11,213.07 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 18,618.60 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 เมษายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,098 บาท และ 79,794 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2552 และวันที่ 16 มีนาคม 2552 จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 4 ซี กำหนดว่าเมื่อพนักงานได้ทำงานครบสัญญาจ้างหนึ่งปี และทำงานต่อในปีถัดไป พนักงานมีสิทธิหยุดพักร้อน 6 วัน โดยได้รับค่าจ้าง ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.1 และสะสมวันหยุดที่ยังไม่ได้หยุดในปีถัดไปได้ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.2 ปี 2551 โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 4 วัน เหลือวันลาสะสมที่จะใช้สิทธิปี 2552 จำนวน 2 วัน ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้น ปี 2551 ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 2 วัน เหลือวันลาสะสมที่จะใช้สิทธิปี 2552 จำนวน 4 วัน ภายหลังยื่นใบลาออกแต่ก่อนการลาออกมีผลโจทก์ที่ 1 ลาหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 รวม 9 วันทำงาน วันที่ 21 และวันที่ 22 มีนาคม 2552 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ โจทก์ที่ 2 ลาหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2552 รวม 10 วันทำงาน วันที่ 7 และวันที่ 8 มีนาคม 2552 เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนมีนาคม 2552 ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 26 วัน เป็นเงิน 72,884.93 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 8 วัน เป็นเงิน 21,278.40 บาท แล้ววินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.1 มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการคิดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้คิดตามอัตราส่วนของปีที่ทำงานได้ เมื่อปี 2552 โจทก์ทั้งสองได้ทำงานจึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปีดังกล่าวได้คนละ 6 วัน และมีสิทธิสะสมวันหยุดที่ยังไม่ได้ใช้ของปี 2551 อีกคนละ 2 วัน และ 4 วัน ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 8 วัน และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 10 วัน แม้โจทก์ที่ 1 จะลาหยุดเกินสิทธิไป 1 วัน แต่เมื่อจำเลยอนุญาตให้หยุดตามที่โจทก์ที่ 1 ยื่นใบลาไว้ก็ไม่ถือว่าโจทก์ที่ 1 ขาดงาน ส่วนโจทก์ที่ 2 ลาหยุดพักผ่อนประจำปีไม่เกินสิทธิ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยแจ้งด้วยวาจาให้โจทก์ที่ 1 ทราบแล้วว่าไม่มีสิทธิลาพักร้อน ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่อยู่รอรับทราบคำสั่งของจำเลย จะถือว่าจำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสองลาหยุดพักผ่อนประจำปีโดยปริยายไม่ได้นั้น เห็นว่า ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่านายกฤษฎากร สิริอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการของจำเลย ได้บอกแก่โจทก์ที่ 1 ขณะที่ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีว่าไม่ต้องมาทำงานแล้วและอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ลาหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่ยื่นใบลาได้ โดยไม่ได้ยื่นยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิลาเพราะลาเกินกำหนด ส่วนโจทก์ที่ 2 เมื่อนายกฤษฎากรรับใบลาของโจทก์ที่ 2 แล้ว ไม่ได้สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตในขณะนั้น โดยไม่ปรากฏเหตุผลอื่นที่จะไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ลาหยุดพักผ่อนประจำปี ถือว่าจำเลยอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ลาหยุดได้โดยปริยาย ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2552 ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคำนวณให้ตามสัดส่วนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ได้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ปี 2552 โจทก์ทั้งสองทำงานเพียง 2 เดือน จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพียงคนละ 1 วันตามอัตราส่วนโดยจำเลยคิดให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิลาพักร้อนได้คนละ 1 วัน รวมกับวันพักร้อนที่โจทก์ทั้งสองเหลืออยู่ปี 2551 จำนวนเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงมากกว่าที่ควรจะได้รับแล้วนั้นเห็นว่า ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพียงใดย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ซึ่งบัญญัติว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 56 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่าในปีแรกของการทำงานลูกจ้างยังไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี จึงจะเกิดสิทธิเช่นนั้น ส่วนในปีต่อไปลูกจ้างก็มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ทันที 6 วันทำงานหรือมากกว่าตามแต่นายจ้างจะอนุญาตหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะกำหนดโดยไม่ต้องทำงานให้ครบปีเหมือนเช่นปีแรก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ต่อมาลาออกมีผลวันที่ 31 มีนาคม 2552 และโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาลาออกมีผลวันที่ 16 มีนาคม 2552 ปี 2552 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการทำงาน โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ครบปีโดยลาออกไปก่อน แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่งบัญญัติว่ากรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 และวรรคท้ายบัญญัติว่าในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลทำให้นายจ้างไม่ต้องชดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างต้องเสียไปด้วยการลาออกโดยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกตามส่วน แต่เมื่อในปีที่โจทก์ทั้งสองลาออกนั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ลาหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นการหยุดตามที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสองตกลงกันจำเลยไม่อาจหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอ้างเหตุใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเกินส่วนได้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด