คำพิพากษาฎีกาที่ 7691 - 7692/57
ผลการทำงานดีมาโดยตลอดและไม่เคยกระทำผิดมาก่อน แต่ปีสุดท้ายผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ถือเป็นเหตุที่จะอ้างในการเลิกจ้าง
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยมีวันเข้าทำงานตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้างสุดท้าย วันกำหนดจ่ายค่าจ้าง และวันเลิกจ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในแต่ละสำนวน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองอ้างเหตุการประเมินผลและประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์ทั้งสองต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายต้องขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งโจทก์ทั้งสองสละสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายแล้วเนื่องจากโจทก์ทั้งสองลงชื่อในบันทึกรับทราบการเลิกจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองแถลงรับว่า ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินค่าชดเชยแล้วไม่ติดใจเรียกร้องเงินดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 500,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 เมษายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 และวันที่ 5 มิถุนายน 2533 ตามลำดับ ครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกได้รับค่าจ้างเดือนละ 34,113 บาท โจทก์ที่ 2 ทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิคได้รับค่าจ้างเดือนละ 26,242 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 (ที่ถูกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553) และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.11 ตามลำดับ ในการเลิกจ้างจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกว่าล่วงหน้า และค่าจ้างเดือนสุดท้ายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 371,943 บาท และ 272,706 บาท ตามลำดับจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.3 ในการประเมินผลการทำงานของโจทก์ทั้งสองปีสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2552 โจทก์ทั้งสองได้รับการประเมินอยู่ในเกรด E และ D ระหว่างปี 2549 ถึงปี 2552 โจทก์ทั้งสองจะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ B B B E และ B B B D ตามลำดับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกรด E และ D อันหมายถึงผลการประเมินอยู่ในขั้นต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ระหว่างปี 2549 ถึงปี 2551 โจทก์ทั้งสองได้รับการประเมินอยู่ในเกรด B ซึ่งหมายถึงอยู่ในเกณฑ์ดี แสดงว่าโจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานดีมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานตลอดมาทั้งสามปีติดต่อกัน ประกอบกับตลอดระยะเวลาตั้งแต่โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างปรากฏข้อเท็จจริงตามแนบประวัติการทำงานของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดและถูกลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยอ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดโดยอาศัยแบบประเมินในปีสุดท้ายก่อนเลิกจ้างเพียงปีเดียวมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างจึงไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 และ ล.11 ถึงว่าโจทก์ทั้งสองได้สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า หนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.11 จำเลยเป็นฝ่ายระบุว่า จำเลยจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาจ้างของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้างเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อความใดอ่านแล้วให้เข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองสละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นๆ จากจำเลยแต่อย่างใด ข้อความที่ระบุว่า “อื่นๆ (ไม่มี)” ในส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ข้อ 4 จึงหาอาจตีความให้มีความหมายว่าโจทก์ได้สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด