คำพิพากษาฎีกาที่ 1996/57
ได้รับบาดเจ็บรายการเดียว เข้ารักษา 2 ครั้ง ถือว่าเป็นการรักษารายการเดียว นายจ้างสำรองจ่ายเพิ่มเติมไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ใช่ 200,000 บาท
โจทก์ฟ้องว่า นายปรีชา ชัยบุญเขตร เป็นลูกจ้างของโจทก์ เริ่มทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 - วันที่ 1 มีนาคม 2551 มีหน้าที่รับส่งสินค้าหรือเอกสารและเก็บเงินทางการค้าให้แก่โจทก์ และเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิตามกฎหมายและระเบียบของจำเลย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 รถจักรยานยนต์ที่นายปรีชาขับไปทำงานตามคำสั่งของโจทก์เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่บริเวณถนนรัชดาภิเษกหน้าสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน นายปรีชาได้รับอันตรายสาหัสและได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2551 – วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 แพทย์ทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อรักสมองจำนวน 2 ครั้ง โจทก์ได้สำรองค่าใช้จ่ายในการรักษาให้แก่นายปรีชาเป็นเงิน 260,604 บาท เมื่อโจทก์ได้ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาล โจทก์จึงยื่นเรื่องขอใช้สิทธิรับเงินที่ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยแต่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 มีคำสั่งตามมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 ลงวันที่ 3 เมษายน 2551 อนุมัติให้โจทก์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 85,000 บาท โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนของจำเลย ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยที่ 335/2551 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ว่าการประสบอันตรายของนายปรีชามีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 85,000 บาท จึงให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนของจำเลย คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2548 ข้อ 4 โดยให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มจากจำนวน 85,000 บาท อีกไม่เกิน 200,000 บาท เนื่องจากในการรักษานายปรีชาแพทย์ต้องทำการผ่าตัดกะโหลกศีรษะเพื่อรักษาส่วนสำคัญของสมองโดยการผ่าตัดใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นจำนวนมาก ซึ่งโจทก์ได้ทำการสำรองจ่ายไปแล้วถึง 260,610 บาท ขอใช้สิทธิเบิกคืนจากจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนั้นในระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2551 - วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องพักและค่าอาหารในการรักษาพยาบาลของนายปรีชาอีกจำนวน 25 วัน เป็นเงินวันละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 17,500 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ที่วินิจฉัยตามมติคณะอนุกรรมการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 335/2551 ให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าห้องพักกับค่าอาหารที่โจทก์ได้จ่ายไปจำนวน 200,000 บาท และ 17,500 บาท รวม 217,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คำสั่งของสำนักงานประสังคมเขตพื้นที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 335/2551 ที่ให้นายปรีชา ชัยบุญเขตร มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 85,000 บาท ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงจากสำเนาเวชาระเบียนและลักษณะการทำงานของนายปรีชาแล้วเห็นว่า การที่นายปรีชาประสบอันตรายจากการขับรถจักรยานยนต์เสียหลักชนต้นไม้ข้างทางได้รับบาดเจ็บกะโหลกศีรษะแตกมีเลือดคั่งในสมอง และได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือดออก กรณีถือเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 31 มกราคม 2548 ข้อที่ 3 (3) การที่นายปรีชาพักรักษาอยู่ในห้องผู้ป่วยหนักเพียง 17 วัน และออกมาอยู่หอผู้ป่วยในปกติอีก 7 วัน รวมอยู่ในโรงพยาบาล 24 วัน กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป หรือเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวข้อ 4 (2) (3) การประสบอันตรายของนายปรีชาลูกจ้างของโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 85,000 บาท เท่านั้น การที่จำเลยได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของนายปรีชาจำนวน 85,000 บาท ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนและได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินจำนวน 85,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายปรีชา ชัยบุญเขตร เป็นลูกจ้างของโจทก์ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2545 - วันที่ 1 มีนาคม 2551 มีหน้าที่รับส่งสินค้าและเก็บเงินทางการค้าให้โจทก์ และเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามกฎหมายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 13 น. ระหว่างที่นายปรีชาขับรถจักรยานยนต์ออกไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งของโจทก์ รถจักรยานยนต์ที่นายปรีชาขับได้เสียหลักชนต้นไม้ข้างทาง รถจักรยานยนต์พลิกคว่ำ นายปรีชาได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4 นายปรีชามีอาการเลือดคั่งนอกและในเยื่อหุ้มสมองและสมองซ้ำ และสมองยื่นกดทับก้านสมอง แพทย์รักษาโดยการผ่ากะโหลกและตัดกะโหลกด้านขวาออกเพื่อเอาก้อนเลือดที่คั่งในสมองออก ทำการผ่าตัดเสร็จสิ้นในวันเดียวกัน ต่อมามีการผ่าตัดซ้ำอีกครั้งในวันที่ 10 มกราคม 2551 โดยการตัดสมองกลีบขมับด้านขวาที่บวมซ้ำอย่างมากออก ภายหลังจากผ่าตัดแพทย์ได้นำนายปรีชาเข้ารักษาในห้องไอ.ซี.ยู. และพักรักษาตัวอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2551 แพทย์ได้นำตัวนายปรีชาออกจากห้องไอ.ซี.ยู. เพื่อนำไปรักษาในห้องพักผู้ป่วยธรรมดา เนื่องจากนายปรีชาพ้นขีดอันตรายแล้ว ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 นายปรีชาได้ย้ายออกจากโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4 ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลอื่น ในระหว่างการรักษาโจทก์ในฐานะนายจ้างได้ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนนายปรีชาให้แก่โรงพยาบาลไปเป็นเงิน 260,604 บาท โจทก์จึงยื่นเรื่องขอใช้สิทธิรับเงินที่ทดรองจ่ายไปตามจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 มีคำสั่งโดยวินิจฉัยตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 ลงวันที่ 3 เมษายน 2551 อนุมัติให้โจทก์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 85,000 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ที่วินิจฉัยตามมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 ว่าการประสบอันตรายของนายปรีชานั้นโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 85,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ที่วินิจฉัยตามมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 335/2551 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการรักษาอาการของนายปรีชา ชัยบุญเขตร ลูกจ้างบาดเจ็บเข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2548 ข้อ 3 (1) คือการรักษาอาการบาดเจ็บของสมองซึ่งเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญและต้องได้รับการผ่าตัด และข้อ 3 (3) มีการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ดังนั้นจึงเป็นการรักษาตามเงื่อนไขของกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 ตั้งแต่สองรายการขึ้นไปแล้ว ทั้งกระบวนการผ่าตัดสมองดังกล่าวเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งทางการแพทย์ถือว่ามีวิธีการและปฏิบัติการถึง 2 ครั้ง การประสบอันตรายของนายปรีชาจึงเข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 (1) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 200,000 บาท เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือบาดเจ็บ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันอันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้นและให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2548 ข้อ 2 กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 35,000 บาท ข้อ 3 กำหนดว่าในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข ฯลฯ (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ และข้อ 4 กำหนดว่า ในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1 ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) – (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป ฯลฯ ดังนั้นแม้อาการสมองบวมของนายปรีชาจะถือว่าเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 (1) และเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 (3) ก็ตาม ก็เป็นบาดเจ็บของอวัยวะภายในส่วนเดียวหรือรายการเดียวกัน และแม้จะต้องทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะถึงสองครั้งซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ทั้งสองครั้งเพื่อเป็นการรักษาสมองอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของชีวิตก็ตามก็เป็นบาดแผลรายการเดียวกัน ไม่ถือว่าการประสบอันตรายของนายปรีชาดังกล่าวเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) – (6 ) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไปตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 4 (1) แต่อย่างใด คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ที่วินิจฉัยตามมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ครั้งที่ 9/2551 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 335/2551 ที่อนุมัติให้โจทก์เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียง 85,000 บาท ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด