คำพิพากษาฎีกาที่ 1516/57
ผู้บริหารบริษัท ฯ ถือเป็นลูกจ้างหรือไม่ ดูจาก_________ ?
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทซูโอ โคคิ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาได้โอนมาเป็นลูกจ้างจำเลย โดยจำเลยตกลงให้นับอายุการทำงานเข้าด้วยกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างสุดท้ายอัตราเดือนละ 160,000 บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน การเลิกจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจ ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 160,000 บาท ค่าชดเชย 960,000 ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 960,000 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 160,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,240,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 โจทก์ทงานกับบริษัทซูโอ โคคิ (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างทำงานกับบริษัทซูโอ โคคิ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ได้ก่อตั้งบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โดยโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย นอกจากนี้การปลดโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยมิใช่เป็นการไล่ออก เพราะเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ส่วนเงินเดือนของโจทก์นั้นเมื่อโจทก์ถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยแล้ว จำเลยให้โจทก์เก็บของและเอกสารให้แล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2549และในเดือนกันยายน 2549 จึงจ่ายค่าตอบแทนครึ่งหนึ่งของเดือนเมื่อโจทก์เก็บของและเอกสารแล้วเสร็จจึงจ่ายค่าตอบแทนอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่เหลือ จำเลยจึงไม่ได้ค้างเงินเดือนโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตรทั้งโจทก์มีอายุมาก และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเดือนละ 160,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 จนกว่าโจทก์จะปลดเกษียณอายุ 60 ปี นั้น ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้ และบริษัทจำเลยกำหนดเกษียณอายุไว้เพียง 55 ปี โจทก์ยังคงบริหารงานบริษัทจำเลยอยู่หลังจากอายุ 55 ปี นั้น เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทของจำเลย โจทก์ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทจำเลย โจทก์จึงไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อโจทก์ไม่เป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ไม่สมควรได้รับค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าตอยแทนใดๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยชำระค่าชดเชย 480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กรกฎาคม 2550) เป้นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปบริษัทซูโอ โคคิ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาบริษัทดังกล่าวซื้อกิจการบริษัทสยามทากาโน จำกัด และก่อตั้งบริษัทจำเลยขึ้นมาบริหารงานเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โดยโจทก์มีชื่อถือหุ้นในบริษัทจำเลย 2,000 หุ้น นางสมจิตร แสงเทียน ภริยาโจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลย 94,000 หุ้น นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจำเลย โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยมาตลอดจนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 2549 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติปลดโจทก์จากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ก่อนปลดโจทก์ดังกล่าว จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ทุกเดือนๆละ 160,000 บาท โดยจำเลยหักเงินเดือนโจทก์เพื่อนำส่งประกันสังคมจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่โจทก์ด้วย และหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนโจทก์นำส่งสรรพากรทุกเดือน การปลดโจทก์กระทำโดยโจทก์ไม่มีความผิด แต่ปลดเนื่องจากจำเลยประกอบกิจการขาดทุนมาโดยตลอด แม้โจทก์จะเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยและโจทก์กับภริยาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยก็ตาม การที่โจทก์ได้รับตำแหน่งด้วยการเลือกจากผู้ถือหุ้นให้เป็นผู้บริหารบริษัทจำเลย โดยโจทก์มีรายได้เดือนละ 160,000 บาท ถือว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่บริษัทจำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 การที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติปลดโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทจำเลยเป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัทหรือไม่ โจทก์ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยและต้องมาทำงานในเวลาปกติของจำเลยหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงของคู่ความยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างโดยฟังแต่ข้อเท็จจริงเรื่องการหักเงินเดือนส่งประกันสังคมและหักภาษี นั้นไม่เพียงพอต่อการพิจารณาถึงสถานะของโจทก์ตามพฤติการณ์แห่งคดี จึงต้องย้อนสำนวนไปฟังข้อเท็จจริงใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทจำเลย อันมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด