คำพิพากษาฎีกาที่ 4701/57
ขับรถออกนอกเส้นทาง แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างหักเงินประกันการทำงานได้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขับรถหัวลาก ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,140 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กับข้ออ้างอื่นๆ ตามหนังสือเลิกจ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ทำงานกับจำเลยมานาน 4 ปี 1 เดือน มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 144,840 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 52 วัน เป็นเงิน 41,823 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2549 รวม 7 วัน เป็นเงิน 5,633 บาท เบี้ยขยันระหว่างวันที่ 16 – 31 สิงหาคม 2549 เป็นเงิน 800 บาท โบนัสประจำปี 2549 เป็นเงิน 5,000 บาท เงินประกันการทำงาน 23,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 241,400 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 144,840 บาท พร้อมดอกเบี้ย 15 ต่อปี นับถัดจากวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,823 บาท เบี้ยขยัน 800 บาท โบนัส 5,000 บาท เงินประกันการทำงาน 23,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 241,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างจากจำเลยเป็นเงินเดือนๆ 5,000 บาท เบี้ยขยัน 1,000 บาท ค่าบ้าน 250 บาท เงินเพิ่ม 1,600 บาท และค่าเที่ยวตามผลงาน กำหนดจ่ายทุกวันที่ 15 และ 28 ของเดือน จำเลยไม่ต้องจ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ทำงานไม่ครบตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายกับฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยกรณีร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน 7,940 บาท จำเลยหักค่าเสียหายดังกล่าวจากเงินประกันการทำงานของโจทก์ 23,000 บาท ส่วนที่เหลือ 15,060 บาท จำเลยคืนโจทก์ไปแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า วันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขับรถหัวลาก ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,140 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน วันที่ 7 กันยายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุตามประกาศเรื่องการปลดพนักงานออกจากบริษัทฯ เอกสารหมาย ล.6 จำเลยหักเงินประกันการทำงาน 7,940 บาท ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนเงินที่เหลือ 15,060 บาท คืนแก่โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ขับรถหัวลากบรรทุกสินค้าจากสำนักงานสาขาแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในวันดังกล่าวโจทก์ขับรถหัวลากบรรทุกสินค้าออกจากสำนักงานสาขาแหลมฉบังตั้งแต่เวลา 22.50 น. ขณะที่จำเลยมีประกาศตามเอกสารหมาย ล.1 กำหนดว่ารถที่ไม่ได้แล่นต่างจังหวัด ให้รถออกได้หลังเวลา 4 น. โจทก์ขับรถออกนอกเส้นทางปกติไปจอดทิ้งไว้ที่ตลาดบ้านบึงตั้งแต่เวลา 23.58 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2549 จนถึงเวลา 6.56 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นเหตุให้คนร้ายงัดรถหัวลากของจำเลย โดยฝาเกลียวปิดถังน้ำมัน กุญแจล็อกถังน้ำมันและน้ำมันเชื้อเพลิง 250 ลิตร สูญหายไป คิดเป็นเงิน 7,940 บาท แล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึงและทำรายงานเท็จเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์จอดรถที่หน้าบริษัทเวิลด์อีเลคตริค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เวลา 1 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ต่อมาเวลา 6 น. พบว่าฝาถังน้ำมันมีรอยงัดและน้ำมันหายไปประมาณ 300 ลิตร ก็ยังฟังได้ไม่ถนัดว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาความเสียหายที่จำเลยได้รับอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของโจทก์ประกอบด้วย ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามข้างต้นโดยวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ทั้งที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลอีก 3 ปาก สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของจำเลยได้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ขับรถหัวลากออกไปนอกสำนักงานของจำเลยก่อนเวลาที่กำหนด เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยกรณีร้ายแรง เป็นการนำข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่กล่าวอ้างในหนังสือเลิกจ้างมาวินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ประกาศเรื่องการปลดพนักงานออกจากบริษัทฯ ตามเอกสารหมาย ล.6 ได้ระบุข้อเท็จจริงแห่งการกระทำผิดดังกล่าวของโจทก์ไว้แล้ว ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์เท่ากับเป็นการโต้แย้งว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้นำรถหัวลากบรรทุกสินค้าออกจากสำนักงานสาขาแหลมฉบังของจำเลยก่อนเวลาที่จำเลยกำหนด การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิด การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจรับฟังตามคำเบิกความของนายณัฐพนธ์ โชติศิริ และนางวัชรี พรหมวิสุทธิ์ พยานจำเลยเป็นการไม่ชอบเพราะพยานทั้งสองเป็นพยานบอกเล่า ส่วนที่โจทก์เบิกความเกี่ยวกับเวลาเริ่มจอดรถแตกต่างจากที่แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและรายงานต่อผู้บังคับบัญชา เป็นความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยไม่ทำให้น้ำหนักคำเบิกความของโจทก์เสียไปทั้งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากบันทึกข้อมูลดาวเทียมตรวจจับพิกัดตามเอก สารหมาย ล.11 และ ล.12 เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอุทธรณ์ตามข้างต้นล้วนเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ถนัดว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องถือว่าโจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์มิได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แต่การที่โจทก์ขับรถหัวลากบรรทุกสินค้าของจำเลยออกจากสำนักงานสาขาแหลมฉบัง เวลา 22.50 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2549 เพื่อไปส่งให้แก่บริษัทเวิลด์อีเลคตริค (ประเทศไทย) จำกัด ที่อำเภอบ้านบึง ในจังหวัดเดียวกันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ที่กำหนดว่ารถที่ไม่ได้แล่นต่างจังหวัดให้รถออกได้หลังเวลา 4 น. และการที่โจทก์ขับรถออกนอกเส้นทางปกติก็เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 8 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 14 ที่กำหนดว่าต้องไม่ขับรถออกนอกเส้นทาง อีกทั้งการที่โจทก์ขับรถไปจอดทิ้งที่ตลาดบ้านบึงตั้งแต่เวลา 23.58 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2549 จนถึงเวลา 6.56 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นเหตุให้รถถูกคนร้ายงัด ทำให้ฝาเกลียวปิดถังน้ำมัน กุญแจล็อกถังน้ำมัน และน้ำมันเชื้อเพลิง 250 ลิตร สูญหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 7,940 บาท โจทก์กลับรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึงว่าโจทก์นำรถไปจอดที่หน้าบริษัทเวิลด์อีเลคตริค (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นการแจ้งหรือให้ข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้บังคับบัญชา และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 8 ว่าด้วยโทษทางวินัย ข้อ 19 การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎ หมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมีเหตุเพียงพอในการเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) และมาตรา 17 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะเกิดหตุ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินประกันการทำงาน 7,940 บาท ชดใช้ค่าเสียหาย และต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ เห็นว่า ในการเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถหัวลากของโจทก์ โจทก์ได้วางเงินประกันการทำงานไว้แก่จำเลย 23,000 บาท ดังนั้นหากโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายจากการทำงานแก่จำเลย ไม่ว่ากระทำโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินประกันการทำงานชดใช้ค่าเสียหายได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ขับรถหัวลากของจำเลยไปจอดทิ้งที่ตลาดบ้านบึงนานเกือบ 7 ชั่วโมง เป็นเหตุให้คนร้ายงัดรถทำให้ฝาเกลียวปิดถังน้ำมัน กุญแจล็อกถังน้ำมัน และน้ำมันเชื้อเพลิง 250 ลิตร สูญหายคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 7,940 บาท จำเลยก็ชอบที่จะหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ชดใช้ค่าเสียจำนวนดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด