คำพิพากษาฎีกาที่ 2178/57
ค่าจ้างระหว่างพักงาน เมื่อข้อเท็จจริง ลูกจ้างกระทำความผิดจริง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2528 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เดือนละ 22,000 บาท ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนว่าโจทก์ทำผิดหรือไม่อย่างไร และไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่าโจทก์มีความผิด วันที่ 28 ธันวาคม 2544 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แต่จำเลยไม่รับดจทก์กลับเข้าทำงานและมีหนังสือที่ กบ.02-1-01/619 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 เลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการไล่ออกตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลย จำเลยมีหนังสือที่ กบ.02-1-01/619 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ลดโทษให้โจทก์เป็นให้ออกมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2545 โดยให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จหรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์มีสิทธิได้รับ แต่ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 จำเลยมีหนังสือยกเลิกคำสั่งเดิมเปลี่ยนเป็นให้ออกตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ศาลฏีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงมีหนังสือขอกลับเข้าทำงาน แต่จำเลยไม่รับโจทก์เข้าทำงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างพักงานเป็นเงิน 2,200,000 บาท โจทก์ทำงานมาเกินกว่า 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 2,200,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 48 วัน เป็นเงิน 35,199.99 บาท และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยหากโจทก์ทำงานถึงอายุ 60 ปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 – ปี 2567 เป็นเวลา 27 ปี จะได้รับค่าจ้าง 26,137,581.84 บาท โบนัส 7,649,122.20 บาท และสิทธิประโยชน์อื่นๆ 500,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 34,286,684.04 บาท ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ กบ.02-1-02/619 และคำสั่งที่ กบ.02-1-02/047 และมีคำสั่งรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยใช้ค่าเสียหายระหว่างโจทก์ถูกออกจากงานเป็นเงิน 2,200,000 บาท และให้นับอายุงานต่อเนื่องนับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 35,199,99 บาทค่าชดเชย 220,000 บาท ค่าจ้าง โบนัส และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ควรจะได้รับหากไม่ถูกออกจากงาน 34,286,684.04 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ต่อชื่อเสียงที่ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชย และร้อยละ 7.5 ต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เป็นเงินเดือนๆละ 17,750 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,555 บาท เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1,990 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมีเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อรอผลคดีตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 พร้อมทั้งมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของจำเลย ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่าโจทก์มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ลงโทษจำคุก 48 ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับ 12,000 บาท จำเลยจึงลงโทษไล่โจทก์ออก โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นให้ออกมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 เพื่อให้โจทก์มีสิทธิได้รับคำชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นๆ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงานช่วงที่มีการสอบสวนเนื่องจากผลการสอบสวนมีความผิดและถูกลงโทษให้ออก หรือหากต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานก็เพียงครึ่งจำนวนของค่าจ้างเพราะกรณีโจทก์ถือว่ามีมลทินมัวหมองตามระเบียบของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวก็ด้วยเหตุพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ จำเลยเห็นว่าลักษณะงานโจทก์ต้องทำในบริเวณท่าอากาศยาน และพฤติการณ์ของโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งยังมีความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่ไว้วางให้โจทก์ทำงานต่อไป การเลิกจ้างโจทก์มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับค่าชดเชยและเงินกองทุนบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างรวม 1,486,303 บาท ค่าชดเชย 182,745 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 15 ต่อปี และเงินบำเหน็จ 243,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฏีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงยุติไปตามคำรับกันของคู่ความว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ตรงกับเอกสารหมาย จ.1 ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 เอกสารหมาย ล.4 ได้ระบุระเบียบการจ่ายค่าชดเชยไว้ในข้อ 20.3 ซึ่งระเบียบนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2537 โดยมีระเบียบข้อ 2 ระบุว่า ระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยที่ขัดกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ประกาศใช้ใหม่ให้เป็นอันยกเลิก และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2528 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงิน 17,750 บาท และค่าครองชีพ 2,555 บาท จ่ายทุกวันที่ 27 ของเดือน งานในหน้าที่ของโจทก์ต้องทำในบริเวณท่าอากาศยาน ซึ่งเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการขนถ่ายสินค้า การให้บริการอากาศยานในลานจอด การสื่อสารในลานจอด และระบบการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยาน โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเกินกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม จำเลยจึงสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ได้จ่ายค่าจ้าง วันที่ 26 ธันวาคม 2543 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษโจทก์ทั้งสองข้อหา ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ โดยก่อนมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้ แต่ลักษณะงานของโจทก์ต้องทำในบริเวณท่าอากาศยานซึ่งใกล้ชิดกับระบบขนถ่ายสินค้าการให้บริการอากาศยานในลานจอด การสื่อสารในลานจอด และระบบรักษาความปลอดภัยลักษณะงานดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้น่าเชื่อได้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายได้ จึงไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานกับจำเลยอีกต่อไป คณะกรรมการจึงมีมติให้แก้ไขโทษโดยยกเลิกโทษไล่ออกเป็นโทษให้ออก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 เอกสารหมาย ล.4 ข้อ 18 กำหนดไว้ว่า พนักงานผู้ใดถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาเว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่หรือเกี่ยวกับความประพฤติ หรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการสอบสวนทำเรื่องเสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งพักงานพนักงานผู้นั้นได้ระหว่างการสอบสวนหรือเพื่อรอฟังผลคดี และให้ส่งสำเนาให้ฝ่ายการพนักงานทราบทันที ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาระดับผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไปถึงรองกรรมการผู้อำนวยใหญ่มีอำนาจสั่งพักงานพนักงานระหว่างการสอบสวนได้ไม่เกิน 90 วัน สำหรับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ให้มีอำนาจสั่งพักงานระหว่างการสอบสวนได้ตามที่พิจารณาเห็นสมควร ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและความผิดเกี่ยวกับวิทยุคมนาคม อันเป็นการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา จำเลยจึงมีสิทธิสั่งพักงานโจทก์ได้ และตามหนังสือของจำเลยที่ กบ.10 -1/53/40 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เรื่องให้พักงานระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาเอกสารหมาย จ.1 ตรงกับเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งมีถึงโจทก์มีข้อความว่า “ตามที่ท่านได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 จับกุมพร้อมยาเสพติดประเภท “ยาบ้า” จำนวน 1,991 เม็ด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 นั้น โดยอาศัยอำนาจกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงให้พักงานท่านระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจึงแจ้งมาเพื่อทราบ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน” ลงชื่อนายชิดพงษ์ สยามเนตร ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เห็นได้ว่าหนังสือดังกล่าวออกในนามจำเลยโดยมีนายชิดพงษ์เป็นผู้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์โดยอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มิใช่นายชิดพงษ์เป็นผู้สั่งพักงานโจทก์ จำเลยจึงสั่งพักงานโจทก์ตามที่พิจารณาเห็นสมควรคือตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงได้ตามระเบียบของจำเลยดังกล่าว คำสั่งพักงานของจำเลยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน งานในหน้าที่ของโจทก์ต้องทำในบริเวณท่าอากาศยาน ซึ่งเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการขนถ่ายสินค้า การให้บริการอากาศยานในลานจอด การสื่อสารในลานจอด และระบบการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยาน อันเป็นช่องทางให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายได้ง่าย การที่โจทก์ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและความผิดเกี่ยวกับวิทยุคมนาคมเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ได้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าวและไม่ไว้วางใจที่จะให้ทำงานอีกต่อไป เพื่อรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานและป้องกันความเสียหายของจำเลย อีกทั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ยังมีคำพิพากษาว่าโจทก์มีความผิดและลงโทษโจทก์ทั้งสองข้อหา จึงมีเหตุผลอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามกันให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษซึ่งต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้บริสุทธิ์ในข้อหาความผิดนี้ก็ตาม แต่โจทก์ยังคงมีความผิดและถูกลงโทษในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม ซึ่งเป็นความผิดในทางอาญาเช่นกันและแม้ศาลจะมิได้พิพากษาลงโทษถึงจำคุกแต่จากหน้าที่การงานของโจทก์ดังกล่าวย่อมเอื้อต่อการเข้าไปเกี่ยว ข้องกับการกระทำความผิดต่อกฎหมายในข้อหาดังกล่าวได้โดยง่าย จำเลยยังมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้เช่นกัน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับการพักงานโจทก์และค่าจ้างระหว่างพักงาน เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาเรื่องการพักงานอยู่นอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เพราะศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมหรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งพักงานโจทก์โดยมิได้ตั้งกรรมการสอบสวนว่าโจทก์ได้กระทำผิดอย่างไร จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าเสียหายในระหว่างที่โจทก์ถูกพักงาน ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จ หรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตลอดจนผลประโยชน์อื่นๆ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า การพักงานโจทก์อยู่ในเกณฑ์ที่จำเลยสามารถสั่งพักงานโจทก์ได้ตามระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 ข้อ 18 โจทก์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจ จำเลยมีเหตุอันสมควรที่ไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยอีกต่อไปได้ การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนค่าจ้างและค่าเสียหายระหว่างที่ถูกพักงาน ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าชดเชยและเงินกองทุนบำเหน็จ จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับแล้วแต่โจทก์ไม่ไปรับ จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการพักงาน ค่าจ้างระหว่างพักงาน ค่าชดเชย และเงินกองทุนบำเหน็จนั้น เป็นการวินิจฉัยไปตามข้ออ้างและข้อเถียงของคู่ความ แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ตามมี่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานเป็นเพียงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำนเนกระบวนพิจารณาเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยคดีย่อมต้องเป็นไปตามข้ออ้างและข้อเถียงของคู่ความ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการพักงานโจทก์และค่าจ้างระหว่างพักงานจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” เห็นว่าลักษณะงานของโจทก์ต้องทำในบริเวณท่าอากาศยานซึ่งใกล้ชิดกับระบบขนถ่ายสินค้า การให้บริการอากาศยานในลานจอด การสื่อสารในลานจอด และระบบรักษาความปลอดภัยซึ่งลักษณะงานดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้น่าเชื่อได้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายได้ โจทก์กลับกระทำผิดในข้อหาความผิดเกี่ยวกับวิทยุคมนาคมอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรงและถือว่าโจทก์กระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าดชเยแก่โจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด เห็นว่า ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารบุคคล ตอนที่ 2 วินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2537 และใช้บังคับในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ข้อ 2 วรรคสอง กำหนดว่า “บรรดาความตามระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อความอื่นใด ในส่วนที่มีกำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ความตามระเบียบนี้แทน” และข้อ 20.3 กำหนดว่า “พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป โดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่บริษัทสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ไม่รวมวันที่พนักงานขาดงาน วันที่พนักงานลาติดตามคู่สมรสและวันที่พนักงานลาหยุดงานเกินสิทธิที่บริษัทกำหนด บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้ไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน จำนวน 20,305 บาท เท่ากับวันละ 676.84 บาท รวมเป็นเงิน 121,830 บาท ซึ่งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ จำเลยกำหนดจ่ายให้โจทก์อยู่แล้วตามรายละเอียดเพื่อการชำระบัญชีของพนักงานที่พ้นสภาพของบริษัท เอกสารหมาย ล.16 จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินดังกล่าวแต่โจทก์ไม่ไปรับ ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 182,745 บาท จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับกรณีคดีนี้ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่โจทก์ในระหว่างพักงานหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้ความว่าโจทก์กระทำความผิดในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม ซึ่งเป็นความผิดในทางอาญา ทั้งน่าเชื่อว่าลักษณะงานของโจทก์เป็นช่องทางที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายจนผลการสอบสวนจำเลยลงโทษโดยมีคำสั่งให้ออกเช่นนี้ ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 เอกสารหมาย ล.4 ข้อ 19.3 กำหนดไว้ว่า “ถ้าผลการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีปรากฏว่าพนักงานผู้นั้นกระทำความผิดจริง และพนักงานถูกลงโทษถึงถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก ไม่ให้จ่ายเงินเดือนค่าจ้างระหว่างที่ถูกสั่งพักงาน” จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างระหว่างถูกสั่งพักงานให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่การเลิกจ้างมีผลจำนวน 12,833 บาท เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวและมีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายก่อนวันที่การเลิกจ้างมีผลแต่อย่างใด ซึ่งโดยหลักแล้วจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ไม่ได้ นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นแต่ในคำพิพากษาศาลแรงงานกลางมิได้กล่าวว่ามีเหตุสมควรอย่างไรจึงให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยข้ออื่นๆ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่าย ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 121,830 บาท และเงินบำเหน็จ 243,660 บาท แก่โจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยของค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ คำขออื่นให้ยก
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด