คำพิพากษาฎีกาที่ 3892/57
สัญญารักษาความลับ ข้อมูลทางการค้า (ห้ามประกอบหรือรับปฏิบัติงานแข่งขันนายจ้าง) มีกำหนด 2 ปี บังคับใช้ได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และการกำหนดค่าเสียหาย ถือเป็นเบี้ยปรับตามกฎหมาย ศาลปรับลดได้ตามสมควร
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่ติดต่อประสานงานให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าแก่ลูกค้า โดยโจทก์จัดอบรมจำเลยให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าสามารถเสนอขายให้แก่ลูกค้าได้ จำเลยตกลงกับโจทก์ว่าจะไม่ประกอบอาชีพหรือรับปฏิบัติงานให้ผู้อื่นที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับกิจการของโจทก์ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันออกจากงานต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2546 โจทก์กับจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยทำสัญญารักษาข้อมูลและความลับทางการค้าว่า จำเลยยอมที่จะไม่เข้าทำงานในร้านค้า บริษัท หรือองค์กรธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือทำการแข่งขันกับโจทก์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเวลา 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ หากจำเลยกระทำผิดสัญญา จำเลยตกลงที่จะจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริงแต่ไม่น้อยกว่า 100,000 บาท วันที่ 26 เมษายน 2548 จำเลยยื่นหนังสือลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 หลังจากพ้นสภาพการเป็นพนักงาน จำเลยได้เข้าเป็นพนักงานของบริษัทเทอร์มินอลซีลแอนด์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์จำหน่ายสินค้าประเภทซีลและโอริง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเช่นเดียวกับโจทก์ และเป็นการแข่งขันกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำผิดสัญญา นอกจากนั้นจำเลยยังเสนอขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของโจทก์ซึ่งจำเลยเคยติดต่อและกล่าวให้ร้ายสินค้าของโจทก์เป็นผลให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2548 เป็นเงิน 3,719.18 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 103,719.18 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขายมีหน้าที่นำสินค้าของโจทก์ไปเสนอขายแก่บุคคล บริษัทห้างร้านทั่วไป และมีการทำสัญญาจ้างแรงงานและสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าตามฟ้อง กับได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยพ้นสภาพเป็นลูกจ้างโจทก์ตามฟ้อง ข้อสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรมต่อจำเลย เป็นข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบการงานของจำเลย อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมพ.ศ. 2540 มาตรา 11 สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ จำเลยทำงานกับบริษัทเทอร์มินอลซีลแอนด์เซอร์วิส จำกัด จำเลยไม่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลบริหารยอดขายและสินค้าที่บริษัทจำเลยทำงานอยู่แตกต่างกันเป็นคนละประเภทกัน ราคาสินค้าที่บริษัทจำเลยทำงานมีราคาสูงกว่าราคาสินค้าของโจทก์และมิได้เป็นบริษัทคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ จำเลยไม่เคยให้ร้ายสินค้าของโจทก์และไม่ได้ทำงานแข่งขันในทางการค้ากับธุรกิจของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ระหว่างจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 โจทก์และจำเลยทำสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า มีสาระสำคัญในข้อ 8 และข้อ 9 ว่า ลูกจ้างจะต้องเก็บรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 ไว้เป็นความลับ ห้างแพร่งพรายให้ญาติ เพื่อนคนใกล้ชิด คู่แข่งทางการค้าของบริษัทและ/หรือสื่อมวลชนทราบ หากลูกจ้างกระทำความผิดสัญญาข้อนี้ บริษัทมีสิทธิที่จะเลิกจ้างทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและบริษัทมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามความเป็นจริง แต่ไม่น้อยกว่า 100,000 บาท ภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันเลิกจ้างไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ห้ามลูกจ้างเข้าทำงานในร้านค้าบริษัทหรือองค์กรในทางธุรกิจที่เป็นคู่แข่งในทางการค้าของบริษัท หรือทำการค้าแข่งขันกับบริษัทในเขตกรุงเทพมหานครและ/หรือเขตปริมณฑล หากลูกจ้างฝ่าฝืน บริษัทมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายตามสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า ตามเอกสารหมาย จ.2 ในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ขายซีลและโอริงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์กันรั่วให้แก่โจทก์ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2548 จำเลยได้มีหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานและโจทก์อนุมัติให้ออกตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ตามเอกสารหมาย จ.9 หลังจากที่จำเลยออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยได้ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทเทอร์มินอลซีลแอนด์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานครตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายได้ขายสินค้ากันรั่วซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท และรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามสัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไม่ได้กระทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินประมาณปีละ 2,000,000 บาทให้ลดเบี้ยปรับโดยให้จำเลยรับผิดเพียงจำนวน 6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า ข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่มั่นคงให้เชื่อถือได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายตามที่นำสืบ จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์โดยยกเอาเอกสารต่างๆ ขึ้นอ้างว่ามีน้ำหนักให้รับฟังก็เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลาง รับฟังมาว่า โจทก์มียอดขายสินค้าลดลง เพราะจำเลยนำสินค้ามาขายแข่งกับโจทก์ โจทก์จึงได้รับความเสียหาย อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 1 (ที่ถูก ข้อ 5) ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 หมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ต่อสู้ประเด็นนี้ไว้ในคำให้การ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่า สัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเอกสารหมาย จ.8 (ที่ถูก จ.2) ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 หรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาที่ให้ถือว่าลูกจ้างที่ปฎิเสธการลงลายมือชื่อในสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า สัญญาจ้างแรงงานเป็นอันเลิกกัน โดยไม่มีการตกลงว่าจ้างเกิดขึ้นและข้อสัญญาที่ห้ามลูกจ้างเข้าทำงานในร้านค้าบริษัทหรือองค์กรธุร กิจที่เป็นคู่แข่งในทางการค้าของบริษัททำการค้าแข่งกันกับบริษัทในเขตกรุงเทพมหานครและปริ มณฑลภายใน 2 ปีนั้น เมื่อพิจารณาจากธุรกิจการค้าของโจทก์ที่ต้องอาศัยการแข่งขัน ข้อมูลความรู้ ความลับทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าและลูกค้าของโจทก์แต่จำเลยมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้า ประสานงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติสินค้าของโจทก์แก่ลุกค้า ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของโจทก์ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวก็มีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่เพียง 2 ปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควรและมีการจำกัดพื้นที่ทำงานเพียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือได้ว่าเป็นการจำกัดพื้นที่พอสมควรเช่นเดียวกัน สัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า เอกสารหมาย จ.2 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ และไม่เป็นข้อตกลงที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยประการสุดท้ายว่าข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.8 ที่กำหนดจำนวนค่าเสียหายไว้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ข้อความในสัญญารักษาข้อมูลและความลับในทางการค้า เอกสารหมาย จ.8 ที่ว่า ห้ามลูกจ้างเข้าทำงานในร้านค้า บริษัท หรือองค์กรธุรกิจที่เป็นคู่แข่งในทางการค้าของบริษัทหรือทำการค้าแข่งขันกับบริษัทในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลภายใน 2 ปี หากลูกจ้างฝ่าฝืนบริษัทมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามความเป็นจริงแต่ไม่น้อยกว่า 100,000 บาทนั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตามประ มวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจจะลดลงได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงและกำหนดเป็นค่าเสียหายจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด