คำพิพากษาฎีกาที่ 2159/57
ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร เลิกจ้างเป็นธรรมไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ต้นเรือ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,750 บาท กำหนดจ่่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 65,250 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 55 วัน เป็นเงิน 39,875 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนี้จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 3,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 39,875 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 3,625 บาท และค่าชดเชยจำนวน 65,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราตามฟ้องนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับจ้าง ขุด ลอก ร่องน้ำ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งต้นเรือทำหน้าที่อยู่บนเรือของจำเลยชื่อ ส. บรรทัดไทย 29 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท หากในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเรือขุดลอกร่องน้ำ โจทก์จะได้รับเบี้ยเลี้ยงจากการขุดร่องน้ำเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์กระทำผิดข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กล่าวคือ เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2551 จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำปัตตานี จังหวัดปัตตานี จำเลยมอบหมายให้เรือ ส.บรรทัดไทย 29 ทำหน้าที่ปฏิบัติงานขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งบนเรือดังกล่าว มีนายศรีไทย อมรสิน ทำหน้าที่นายเรือ โจทก์ทำหน้าที่ต้นเรือ เรือ ส.บรรทัดไทย 29 ได้ปฏิบัติงานแล้วเสร็จตามสัญญาว่าจ้าง เรือ ส.บรรทัดไทย 29 จอดทอดสมออยู่ในทะเลซึ่งตามกฎระเบียบของการเดินเรือ ขณะที่เรือจอดทอดสมอในทะเลจะต้องมีนายเรือและต้นเรือ หรือนายเรือหรือต้นเรือคนใดคนหนึ่งอยู่บนเรือ เพื่อจะเป็นคนควบคุมเรืออยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นการจอดทอดสมออยู่ เพื่อมิให้เรือได้รับความเสียหายหรือเกิดอันตรายใดๆ กับลูกเรือ นายเรือหรือต้นเรือจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่บนเรือตลอดเวลา ระหว่างวันที่ 18 มกราคม ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นช่วงวันพักลีฟ (วันพักงาน) ของนายศรีไทย นายเรือซึ่งโจทก์ทราบ เนื่องจากจำเลยได้จัดทำตารางวันพักลีฟ (วันพักงาน) ให้กับพนักงานทุกคนได้รับทราบล่วงหน้าว่าตำแหน่งใดบนเรือส.บรรทัดไทย 29 จะได้พักลีฟช่วงระยะเวลาใดแต่ปรากฏว่าช่วงเวลาวันพักลีฟ (วันพักงาน) ของนายเรือส.บรรทัดไทย 29 โจทก์จะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนนายเรือตลอดเวลาที่นายเรือไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาติดต่อกัน 4 วัน เพื่อขึ้นบนฝั่งไปดื่มสุราจนเมาไม่ได้สติตลอดระยะเวลาที่ละทิ้งหน้าที่ต้นเรือ การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์เป็นเวลาติดต่อกันกว่า 3 วัน โดยมิได้มีเหตุอันสมควรและมิได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อน จึงถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับการทำงานและถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรงสำหรับธุรกิจเดินเรือซึ่งระหว่างที่โจทก์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่อาจจะเกิดเหตุอันตรายใดๆ กับเรือ ส.บรรทัดไทย 29 และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็จะไม่มีผู้ใดสามารถที่จะสั่งการบนเรือได้ ความเสียหายทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นกับจำเลยอาจจะเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งและละทิ้งหน้าที่อันสำคัญของโจทก์ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างโจทก์จึงสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยมิจำต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยแจ้งผลการสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์วันเดียวกันและโจทก์รับทราบ สำหรับค่าจ้างของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 3,625 บาท จำเลยได้จ่ายให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ต้นเรือ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,500 บาท จำเลยประกอบธุรกิจรับจ้างขุดลอกร่องน้ำโดยใช้เรือขุดขนาดใหญ่ จำเลยส่งเรือ ส.บรรทัดไทย 29 ไปขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำปัตตานีโดยมีนายศรีไทย อมรสิน ทำหน้าที่นายเรือ โจทก์ทำหน้าที่ต้นเรือ นายศรีไทยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด หากนายศรีไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โจทก์ในฐานะต้นเรือจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน นายศรีไทยจัดทำประกาศการพักงานของพนักงานประจำเรือ ส.บรรทัดไทย 29 ประจำปี 2552 ให้พนักงานได้รับทราบไว้บนเรือส.บรรทัดไทย 29 โดยนายศรีไทยใช้สิทธิในการพักงานระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งโจทก์ทราบเป็นอย่างดีว่านายศรีไทยจะไม่อยู่ในช่วงนั้น เมื่อนายศรีไทยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องอยู่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในเรือ ส.บรรทัดไทย 29 ซึ่งเรือ ส.บรรทัดไทย 29 จอดทอดสมออยู่ในทะเล ต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาในการปฏิบัติงานตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีผู้ว่าจ้างจำเลย แต่วันที่ 28 มกราคม 2552 โจทก์ได้ลงจากเรือ ส.บรรทัดไทย 29 ขึ้นบนฝั่งไปดื่มสุราถึงวันที่ 31 มกราคม 2552 อันเป็นการละทิ้งหน้าที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายศรีไทยนายเรือ เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่เรือ ส.บรรทัดไทย 29 จอดทอดสมออยู่ในทะเลย่อมอยู่ในความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ตลอดเวลา การกระทำของโจทก์ทำให้เรือ ส.บรรทัดไทย 29 อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนนายกล้า อยู่ดี ตำแหน่งสะหรั่งเรือแม้จะทำหน้าที่ฝึกตำแหน่งต้นหนก็เป็นการฝึกในขณะที่มีนายเรือและต้นเรืออยู่บนเรือ ส.บรรทัดไทย 29 กำกับดูแลและนายกล้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ทำหน้าที่ต้นหนจึงไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต้นหนได้ สำหรับเงินค่าจ้างจำนวน 3,625 บาท จำเลยได้จ่ายให้โจทก์แล้ว และวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ส่วนค่าจ้างค้างจำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน ทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น เป็นการนำข้อเท็จจริงนอกคำให้การจำเลยและนอกประเด็นข้อพิพาทมาวินิจฉัยและไม่ได้วินิจฉัยว่ารายงานเหตุการณ์ที่นายณรงค์ฤทธิ์ สุดพิบูลย์ ทำตามเอกสารหมาย ล.16 ว่าพบโจทก์บนฝั่ง เป็นความจริงและรับฟังได้หรือไม่ จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ทั้งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับบัญชาการบริหารงานในเรือผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริงที่นำสืบ ที่วินิจฉัยว่าเรือจอดทอดสมออยู่กลางทะเลมิได้ปฏิบัติหากไม่มีนายเรือและต้นเรืออยู่ในเรือจะได้รับความเสียหายก็คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง การที่ต้องมีนายเรือและต้นเรือประจำอยู่ที่เรือเป็นเรื่องที่เรือต้องออกปฏิบัติงานไม่เกี่ยวกับการที่เรือจอดทอดสมอ นายกล้าทำงานในหน้าที่ต้นหนมาโดยตลอดโดยจำเลยทราบและยอมรับความเสี่ยงนั้น โจทก์มีพยานหลายคนที่ทราบว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้ขาดงานเกิน 3 วัน โดยโจทก์ขึ้นฝั่งไปเพียง 2 วัน แต่ไม่มีใครกล้ามาเบิกความที่เป็นปฏิปักษ์กับจำเลย ทั้งการที่โจทก์ขึ้นฝั่งได้แจ้งให้นายศรีไทยนายเรือทราบแล้ว พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้นั้น เห็นว่า ล้วนเป็นการหยิบข้อเท็จจริงขึ้นอ้างและโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควรอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด