คำพิพากษาฎีกาที่ 3942/57
ลาออกมีผลใช้บังคับแล้ว ออกหนังสือเลิกจ้างภายหลังใช้บังคับไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาด ได้รับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้างเดือนละ 80,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอ้างว่าบริษัทที่ต่างประเทศมีนโนบายปรับลดตำแหน่งและปรับลดจำนวนพนักงานลงโดยเลิกจ้างทันที แต่โจทก์ไม่ยินยอมจำเลยจึงทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 โดยให้มีผลย้อนหลังเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 การเลิกจ้างโจทก์กรณีเช่นนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ เคยเป็นพนักงานของจำเลย เริ่มเข้าทำงาน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดได้รับเงินเดือนๆละ 80,000 บาท จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ หากแต่โจทก์ลาออกเองกล่าวคือจำเลยทราบว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่ส่อไปทางทุจริโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์เรียกร้องผลประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพย์สินและเงินจากบริษัทคู่ค้าของจำเลย ประกอบกับจำเลยมีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาดอีกต่อไป ดังนั้นจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์พิจารณาตัวเอง ซึ่งโจทก์พิจารณาแล้วได้ขอลาออก โดยทำหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 และให้มีผลการลาออกในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่นตามกฎหมายแรงงานให้โจทก์จำนวน 370,500 บาท ซึ่งโจทก์ได้ออกหลักฐานใบรับเงินจำนวนดังกล่าว และไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ จากจำเลย หลังจากโจทก์ยื่นหนังสือลาออกและรับเงินจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้ขอให้จำเลยออกหนังสือเลิกจ้างโจทก์ระบุสาเหตุเกี่ยวกับการยกเลิกตำแหน่งของโจทก์สาเหตุเดียว โดยโจทก์อ้างว่าเพื่อโจทก์จะได้นำไปแสดงในการสมัครงานใหม่ ดังนั้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 จำเลยออกหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอ ในส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินจริง ทั้งโจทก์ได้ทำบันทึกรับเงินโดยจะไม่เรียกร้องใดๆ จากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาดได้รับค่าจ้างเดือนละ 80,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นใบลาออกโดยให้มีผลวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ตามสำเนาหนังสือลาออกเอกสารหมาย ล.1 กรรมการผู้จัดการจำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 370,500 บาท แล้วินิจฉัยว่า ตามหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย ล.2 หนังสือลาออกเอกสารหมาย ล.1 มิได้เกิดจากความสำคัญผิด กลฉ้อฉลหรือข่มขู่อันจะทำให้การแสดงเจตนาลาออกไม่สมบูรณ์ หากแต่เกิดจากการสมัครใจของโจทก์เองในการจัดทำหนังสือลาออกดังกล่าว การลาออกของโจทก์ทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงทันทีนับแต่วันที่โจทก์จัดทำหนังสือลาออก ส่วนหนังสือเลิกจ้างฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 เอกสารหมาย ล.6 จัดทำขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ได้ลาออก จึงไม่มีผลบังคับเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากฐานะลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้สิ้นสุดลงในวันที่โจทก์ลาออกก่อนการจัดทำหนังสือเลิกจ้างฉบับดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์นำสืบเป็นที่ประจักษ์ต่อศาลแสดงว่าโจทก์มิได้เจตนาทำหนังสือลาออกแต่จำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์จึงบังคับให้โจทก์ทำหนังสือลาออกดังกล่าว มิฉะนั้นจะไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ หนังสือลาออกตามเอกสารหมารย ล.1 ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากมิได้เป็นไปตามเจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามหนังสือลาออกเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏแจ้งชัดว่าให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เมื่อหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.6 ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 จึงอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยกับโจทก์ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะระบุในหนังสือลาออกเอกสารหมาย ล.1 ให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ก็ตาม แต่เอกสารหมาย ล.2 โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยว่าได้รับเงินจำนวน 370,500 บาท ครบถ้วนแล้วและจะไม่เรียกร้องกันอีกต่อไป ทั้งยืนยันแก่จำเลยใหม่ว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของโจทก์และโจทก์จะไม่กลับมาที่บริษัทจำเลยอีก จึงแสดงว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว โจทก์ประสงค์ให้การลาออกมีผลในวันเดียวกับวันที่ยื่นใบลาออกคือวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โดยจำเลยตกลงยินยอมด้วย ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างจึงสิ้นสุดลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 25548 หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.6 ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 จึงไม่อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยกับโจทก์ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่ดังที่โจทก์อุทธรณ์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด