คำพิพากษาฎีกาที่ 2344/57
ข้อตกลงว่า “หากเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงาน ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย” ไม่เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน เมื่อเกิดสิทธิตามกฎหมาย ฟ้องศาลแรงงานได้ โดยไม่ต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 420,420 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 78,828.75 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย และร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย แต่โจทก์เซ็นสัญญาฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ( พ.ศ. 2549 ) กับบริษัท เวิลด์เบสท์ สปินนิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญา โจทก์จำต้องนำข้อพิพาทขึ้นสู่คณะกรรมาธิการอนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีน (CHINA INTERNATIONAL ECONOMIC AND TRADE ARBITRATION COMMISSION) สาขาเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด จะนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานกลางที่ประเทศไทยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า คู่ความได้ทำสัญญาตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ว่าหากมีกรณีโต้เถียงเกี่ยวกับแรงงานให้ชี้ขาดโดยคณะอนุญาโตตุลาการของประเทศจีน แล้ววินิจฉัยว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้โดยตรงและมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องโจทก์ แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฏีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ ว่าโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานโดยไม่ต้องปฎิบัติตามข้อตกลงเรื่อง อนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่าในการจ้างแรงงานนั้นสิทธิของลูกจ้างจะแบ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายเช่นสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีนี้โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยสองฉบับ คือ สัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ซึ่งในสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.2 มีข้อตกลงในการจัดการข้อพิพาท ข้อ 6 1) ว่า หากลูกจ้างไม่พอใจหรือเกิดข้อพิพาทในการทำงาน สามารถที่จะเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาต้องรีบทำความเข้าใจ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หากไม่สามารถแก้ไขได้ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าขึ้นไป และ 2) ว่าหากมีข้อพิพาทจากสัญญา นายจ้างและลูกจ้างจะต้องเจรจาหาข้อยุติ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ให้คณะกรรมาธิการอนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีน ณ เซี่ยงไฮ้ เป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท นายจ้างและลูกจ้างจะต้องเคารพในผลการตัดสิน และสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย ล.3 ในข้อ 6 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่า ตามข้อตกลงนี้หากมีข้อพิพาทหรือเรื่องที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรึกษาหารือข้อยุติ หากไม่สามารถตกลงกันได้จะให้คณะกรรมาธิการ อนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนเป็นผู้ตัดสิน และทั้งสองต้องยอมรับในช่วงที่ทำการตัดสินทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพในผลการตัดสิน นั้น เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 6 2) และสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 6 เห็นว่า โจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น มิได้ครอบคลุมข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 และ 118 บัญญัติไว้ ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้โดยตรงและมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด