คำพิพากษาฎีกาที่ 3652/57
เลิกจ้างด้วยเหตุอื่น อันมิใช่ความผิดเดิมที่เคยตักเตือน ไม่ใช่เหตุที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย เลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานขาย ได้รับเงินเดือน 20,000 บาท ค่าน้ำมัน 3,000 บาท และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 73,500 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 37 วัน เป็นเงิน 30,216 บาท จำเลยจ้างค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2548 จำนวน 10,416 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,216 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างค้าง 10,416 บาท และค่าชดเชย 73,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท หักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 750 บาท คงเหลือ 19,250 บาท เริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 งวด คืองวดที่ 1 ภายในวันที่ 15 ของเดือน และงวดที่ 2 ภายในวันสิ้นสุดของเดือน ระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์มักนำบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบในธุรกิจของจำเลยเข้ามาภายในที่ทำการของจำเลยและอยู่ในสถานที่ทำงานจนดึกดื่นค่ำคืนเป็นประจำ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ แต่โจทก์ยังคงกระทำการดังกล่าวอยู่ อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีพฤติการณ์ทำนองแอบนำข้อมูลของจำเลยซึ่งถือเป็นความลับทางการค้าในกิจการของ จำเลยออกไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งโจทก์ทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับกิจการค้าของจำเลยสูญหายอยู่เสมอ จำเลยเคยแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นความผิดแต่โจทก์ยังคงกระทำการอีก จำเลยพิจารณาแล้วหากปล่อยให้โจทก์ทำงานต่อไปจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยเพราะพฤติการณ์ส่อไปในทางกระทำการอันน่าจะเป็นการทุจริตต่อหน้าที่การงาน ทั้งยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยตรวจพบภายหลังว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างทำให้โจทก์ไม่พอใจได้เก็บเอกสารของจำเลยที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ออกไป ทั้งไม่ยอมลงนามรับทราบคำสั่งเลิกจ้าง และไม่คืนเอกสารให้แก่จำเยหากศาลฟังว่าการกระทำของโจทก์มิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยก็ไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,216 บาท เนื่องจากกำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งมี 2 งวด คือวันที่ 15 และวันสิ้นสุดของเดือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 25 พฤษภาคม 2548 จะมีผลเป็นการบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 15 มิถุนายน 2548 จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ 15 วัน เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2548 จำนวน 10,416 บาท ให้แก่โจทก์โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2548 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 73,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยล ะ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขาย ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้รับเงินเดือนๆละ 20,000 บาท ค่าน้ำมันเดือนละ 3,000 บาท และค่าโทรศัพท์เคลือนที่เดือนละ 1,500 บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 24,500 บาท จำเลยจ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ 2 ครั้ง ต่อเดือน โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขายปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อมาจำหน่าย ห้องทำงานของโจทก์มีนายเปห์เองลีและพนักงานบัญชีอีก 2 คน ทำงานอยู่ด้วย พนักงานในห้องทุกคนมีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับปฏิบัติงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเป็นระบบออนไลน์ที่พนักงานทุกคนสามารถเปิดดูข้อมูลลูกค้าได้ วันที่ 24 พฤษภาคม 2548 นายเปห์เองลีโทรศัพท์แจ้งโจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากข้อมูลทางการค้าของจำเลยในเครื่องคอมพิวเตอร์สูญหายแล้วินิจฉัยว่า นายเปห์เองลีหารือกับนายอังเดร คาลินิเซนโก กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยแล้วให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งที่ไม่ได้ตรวจข้อเท็จจริงให้แน่ชัดก่อน นายเปห์เองลีเบิกความว่าตรวจสอบข้อมูลลูกค้าไม่พบในเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น มิได้ยินยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้า โจทก์มีตำแหน่งเป็นพนักงานขายของจำเลยเพียงผู้เดียวที่จะต้องดำเนการติดต่อขายระวางเรือและบริการลูกค้าของจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อลูกค้าของจำเลยไว้สำหรับติดต่อทางธุรกิจซึ่งเป็นผลประโยชน์ของจำเลยทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หลังจากเวลา 17 นาฬิกา ที่เป็นเวลาเลิกงาน โจทก์จะทำงานต่อโดยมีนายฐาปนพร ธรรมรงค์วิศวะ เพื่อนชายของโจทก์มารอรับโจทก์ในห้องทำงาน เมื่อนายเปห์เองลีทราบได้เตือนโจทก์ โจทก์ยอมรับ และให้นายฐาปนพรรออยู่ด้านนอกที่จำเลยจัดไว้สำหรับต้อนรับลูกค้าส่วนการที่นายเปห์เองลีนำภรรยาและพนักงานของจำเลยพาบุตรเข้ามารอในห้องทำงานด้วยนั้น นายฐาปนพรมีสถานะเป็นเพียงชายของโจทก์ ซึ่งแตกต่างกับภรรยาของนายเปห์เองลีและบุตรของพนักงานจำเลยที่นายเปห์เองลีทราบว่ามีความเกี่ยวพันกับพนักงานแต่ละคน ดังนั้น จำเลยจึงต้องมีความระแวงสงสัยตามสมควรว่าจะมาล่วงรู้ความลับทางการค้าของจำเลยอันจะทำให้ธุรกิจทางการค้าของจำเลยได้รับผลกระทบ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้มีพฤติการ์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อตามพระบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) บัญญัติว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณี (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างซึ่งเลิกจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ดังนั้นในการเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว หากลูกจ้างยังคงกระทำความผิดซ้ำคำเตือนของนายจ้าง นายจ้างจึงจะมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อหนังสือเตือนเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ให้มาทำงานให้ตรงเวลา ไม่ควรนำเพื่อนเข้ามาในสำนักงานหลังเวลางานและไม่ควรอยู่ในสำนักงานจนดึก ภายหลังจากจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือดังกล่าว โจทก์ได้ยอมรับและปฎิบัติตามโดยให้นายฐาปนพร รออยู่ด้านนอกที่จำเลยจัดไว้สำหรับต้อนรับลูกค้า ซึ่งเป็นบริเวณแยกต่างหากจากห้องที่โจทก์ทำงานอยู่มิได้อยู่ในห้องทำงานของโจทก์เช่นเดิม และไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนโดยนำนายฐาปนพรเข้ามารอในห้องทำงานอีก การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำค้ำเตือนตามมาตรา 119 (4) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด