คำพิพากษาฎีกาที่ 1930/57
นำรถยนต์ไปใช้ในกิจธุระส่วนตัว มีพฤติกรรมคดโกง ไม่ซื่อตรง พฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ไม่น่าไว้วางใจ ลงโทษปลดออกจากการทำงานได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2520 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานธุรการ 4 กลุ่มงานสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล กองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายเทคโนโลยีและวิศวกรรม ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 22 กันยายน 2551 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งองค์การเภสัชกรรมที่ อภ (2) 122/2551 เรื่อง ลงโทษพนักงานปลดออกจากงาน ลงวันที่ 16 กันยายน 2551 อ้างว่าโจทก์ทำรายงานเท็จเพื่อขอให้รถยนต์ส่วนกลางต่อผู้บังคับบัญชาและใช้กลอุบายในการนำรถยนต์ส่วนกลางขนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ออกไปถือ เป็นการลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งการงานในหน้าที่ รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และมีพฤติการณ์ทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริตหรือไม่น่าไว้วางใจ และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 29 ข้อ 30 ข้อ 36 ข้อ 45 (3) และ (8) แห่งข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม ว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ. 2511 และให้ลงโทษปลดโจทก์ออกจากงานโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งจึงร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการลงโทษทางวินัยใหม่เพื่อให้ได้รับโทษขั้นต่ำกว่าโทษปลดออกจากงาน ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 จำเลยที่ 1 มีหนังสือองค์การเภสัชกรรมที่ สธ 5100/2536 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย โดยวินิจฉัยให้ยกคำร้องอุทธรณ์และยืนตามคำสั่งลงโทษ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 และไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากโจทก์ขออนุญาตใช้รถยนต์ต่อผู้บังคับบัญชาและแจ้งให้ทราบถึงสถานที่ที่จะทำกิจธุระและได้รับอนุญาตแล้ว จึงมิใช่การรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด อีกทั้งโจทก์ขอให้รถยนต์ไปในกิจธุระส่วนตัวประมาณ 30 นาที เป็นการใช้เวลาเล็กน้อยและไม่ไกลจากสถานที่ตั้งของจำเลยที่ 1 มากนัก ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ถือเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยควรลงโทษสถานเบานอกจากนี้โจทก์มิได้ใช้กลอุบายในการนำรถยนต์ส่วนกลางขนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ออกไปนอกที่ทำการ อันเป็นการลักทรัพย์แต่อย่างใด คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการลงโทษโดยโจทก์มิได้ทุจริตหรือมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหรือน่าไว้วางใจตามข้อ 45 (3) และมิใช่การประพฤติชั่วร้ายอย่างร้ายแรงตามข้อ 45 (8) อันจะมีโทษถึงขั้นปลดออก นอกจากนั้นโจทก์เป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ตั้งแต่ปี 2535 ได้ช่วยงานกิจกรรมของจำเลยที่ 1 ปีละหลายครั้ง โดยเป็นการช่วยเหลือด้วยความสมัครใจเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมของจำเลยที่ 1 ไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นเหตุอันควรได้รับการหย่อนโทษ จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินของสมาชิก และเป็นหลักประกันแก่สมาชิกในกรณีลาออกจากงาน จำเลยที่ 1 จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การเภสัชกรรม มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของกองทุน จำเลยที่ 1 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมและเงินสมทบ โดยให้โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนจากการจ่ายค่าจ้างไว้ร้อยละ 3 และจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินสมทบให้กองทุนร้อยละ 12 เข้ากองทุนงวดที่มีการจ่ายค่าจ้าง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 – วันที่ 30 กันยายน 2551 โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนและได้รับผลประโยชน์ของเงินสะสม และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและได้รับผลประโยชน์เงินสมทบรวมเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมกับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 679,532.09 บาท โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายตามระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าจะจ่ายเงินดังกล่าวเมื่อโจทก์ออกจากงาน และถ้าโจทก์มีอายุการทำงานตั้งแต่ 5 ปี จะมีสิทธิได้รับสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำเลยที่ 1 จำนวนร้อยละ 100 ของยอดเงินสมทบและผลประโยชน์ ขณะนี้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การเภสัชกรรมทั้งในส่วนเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมในส่วนของโจทก์และเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายสมทบให้โจทก์พร้อมกับผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 679,532.09 บาท แต่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมจำนวน 84,988.28 บาท แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำเลยทั้งสองไม่ยอมจ่าย ขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การเภสัชกรรม ที่ อภ (2) 122/2551 เรื่อง ลงโทษพนักงานปลดออกจากงาน ลงวันที่ 16 กันยายน 2551 และหนังสือองค์การเภสัชกรรม ที่ สธ 5100/1536 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 โดยมีคำสั่งให้จำเลยลงโทษให้ออกแทนการปลดออก และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 594,543.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายตำแหน่งพนักงานธุรการ 4 กลุ่มงานสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานตามคำสั่งองค์การเภสัชกรรม ที่ อภ (2) 122/2551 เรื่อง ลงโทษพนักงานปลดออกจากงาน ลงวันที่ 16 กันยายน 2551 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2551 เป็นต้นไป การกระทำของโจทก์ที่ทำรายงานเท็จเพื่อขอให้รถยนต์ส่วนกลางต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับอนุญาตแต่ไปใช้ในกิจการส่วนตน ทำให้ไม่ต้องลางานและสามารถกลับมาทำงานล่วงเวลาได้ กับพฤติการณืที่เชื่อได้ว่าโจทก์ได้มีการใช้กลอุบายในการนำรถยนต์ส่วนกลางขนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำผิดวินัยทั้งสองกรณีทำให้จำเลยที่ 1 เสียประโยชน์และได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา เสียประโยชน์จากการใช้รถยนต์ส่วนกลางที่น่าจะเป็นประโยชน์ในงานส่วนอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 1 ต้องสูญเสียทรัพย์สินจากพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้ลักไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งการงานในหน้าที่ รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และมีพฤติการณ์ทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริตหรือไม่น่าไว้วางใจและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรม ว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัยการลงทาและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ. 2511 ข้อ 29 ข้อ 30 ข้อ 36 ข้อ 45 (3) และ (8) ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2551 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษของจำเลยที่ 1 ต่อประธานกรรมการจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยอมรับว่าได้ละทิ้งหน้าที่และนำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปใช้ในกิจการส่วนตัวจริง แต่การกระทำผิดดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่เป็นการเสียหายที่ไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับสถานะธุรกิจหรือรายได้ของจำเลยที่ 1 ต่อมาประธานกรรมการจำเลยที่ 1 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งองค์การเภสัชกรรม ที่ อภ (2) 122/2551 ลงโทษปลดโจทก์ออกจากงาน คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 โดยบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุน มีหน้าที่เพียงจัดส่งเงินสะสมให้แก่กรรมการจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับแจ้งว่าให้จ่ายเงินสะสมแก่ใครด้วยเหตุการสิ้นสุดสมาชิกภาพอย่างไร คดีนี้เมื่อได้รับแจ้งจากกรรมการจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพโดยจงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจำเลยที่ 2 โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด จึงได้ส่งมอบเงินสะสมในส่วนของนายจ้างแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยสุจริตตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามคำฟ้อง คำให้การของจำเลยทั้งสอง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลาง ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2520 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 โจทก์ขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางของจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อราชการรับส่งเอกสารโดยระบุว่าจะไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้รถยนต์แล้วโจทก์ไม่ได้ไปติดต่อราชการที่ศาลาว่าการกรุงเทพมมหานคร 2 แต่ได้ใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปทำธุระส่วนตัวที่เตาปูน และในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 18 นาฬิกา โจทก์ได้ขับรถยนต์คันหมายเลข 15 ของจำเลยที่ 1 ไปจอดไว้ที่บริเวณอุปกรณ์การผลิตของจำเลยที่ 1 ต่อมาในวันรุ่งขึ้นปรากฎว่ามีทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คือฝาถังและตะแกรงรองถาดยาหายไปจากบริเวณดังกล่าว 3 รายการ ซึ่งทรัพย์สินที่สูญหายดังกล่าวหากจะเคลื่อนย้ายได้จะต้องมีรถยนต์มาทำการขนย้าย จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินัยให้สอบสวนกรณีทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหาย คณะกรรมการได้สรุปผลการสอบสวนว่า โจทก์เป็นผู้นำฝาถังและตะแกรงรองถาดยาใส่รถยนต์คันหมายเลข 15 ของจำเลยที่ 1 แล้วใช้กลอุบายขนออกไป จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2551 เป็นต้นไป โจทก์อุทธรณ์ต่อประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษขั้นต่ำกว่าโทษปลดออกจากงาน ประธานกรรมการจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ลงโทษโจทก์ปลดออกจากงานหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ทำรายงานขออนุญาตนำรถยนต์ส่วนกลางของจำเลยที่ 1 ไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์อนุญาตแล้วโจทก์กลับนำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวของโจทก์เองโดยมิได้นำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างไรเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการที่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายอีก การกระทำของโจทก์มีลักษณะคดโกง ไม่ซื่อตรง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่น่าไว้วางใจ จำเลยที่ 1 ลงโทษโจทก์ปลดออกจากงานได้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ. 2511 ข้อ 45 (3) การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโจทก์ปลดออกจากงานจึงชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การเภสัช กรรม ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 34 (1) จากจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด