คำพิพากษาฎีกาที่ 1376/57
สัญญาค้ำประกันการทำงานไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ต้องรับผิดชอบตลอดไป
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งทั่วไปและอื่นๆ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมทำหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่า ระหว่างการทำงานกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดๆ ต่อโจทก์หรือบุคคลภายนอกซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ในวงเงิน 50,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 เวลา 6 นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างโจทก์ ได้รับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 12- 4424 กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ ม 1 958 – 423 จากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดน่าน ถึงระหว่างหลักกิโลเมตร ที่ 197 ถนนยนต์กิจโกศล ตำบลปางมอญ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน จำเลยที่ 1 ขับด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติ การณ์ และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 1 ได้ห้ามล้อกระทันหันทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ขับพลิกตะแคลงข้างทางฝั่งรถสวน โจทก์ต้องจ่ายค่ารถยกลากรถยนต์เป็นเงิน 18,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนและค่าเครื่องโทรศัพท์ที่สูญหายของนางสาวจตุพร ถุงคำ ผู้โดยสาร เป็นเงิน 2,500 บาท ค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 410,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 445,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้โดยวิธีการหักเงินของจำเลยที่ 1 แล้วบางส่วน คงเหลือ 359,325 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2548 เป็นต้นไป เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกซึ่งเป็นไปตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พ.ศ.2532 ข้อ 32 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ติดต่อทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกถอย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 359,325 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ มีกำหนดเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2532 - วันที่ 23 ธันวาคม 2534 ในวงเงิน 50,000 บาท ความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2546 เป็นเวลาที่สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของโจทก์เอง เนื่องจากตามระเบียบของโจทก์ หากเส้นทางรถสายใดมีความยาวเกินกว่าหรือตั้งแต่ 300 กิโลเมตร โจทก์จะต้องจัดพนักงานขับรถอีกคนหนึ่งไปด้วยเพื่อสลับเปลี่ยนตามระยะเวลาและระยะทางที่โจทก์กำหนด วันเกิดเหตุโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุตามฟ้องจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่จังหวัดน่าน ระยะทาง 668 กิโลเมตร โดยโจทก์ไม่ได้จัดพนักงานขับรถอีกคนหนึ่งไว้คอยสับเปลี่ยนกันขับ และหากจำเลยที่ 1 ขับรถส่งผู้โดยสารถึงที่หมายล่าช้ากว่าที่กำหนด จำเลยที่ 1 ก็จะถูกลงโทษ จนในที่สุดสภาพร่างกายของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับได้ จึงเกิดเหตุตามฟ้องขึ้น อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของโจทก์ในการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ค่าซ่อมแซมรถคันเกิดเหตุมีไม่เกิน 80,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 359,325 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถ มีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ จ.4 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถโดยสารของโจทก์เสียหาย รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 445,000 บาท แต่มีการหักชำระหนี้โดยวิธีการหักเงินของจำเลยที่ 1 แล้ว เหลือหนี้อยู่ 359,325 บาท ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าเหตุคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากคันที่จำเลยที่ 1 ขับมีสภาพไม่สมบูรณ์และมีรถยนต์บรรทุกเล็กแล่นเข้ามาในช่องเดินรถจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงหักหลบ นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างกับโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาจ้างพนักงานขับรถและหนังสือรับรองและค้ำประกันพนักงานขับรถ มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี แต่เหตุคดีนี้เกิดหลังจากสัญญาจ้างพนักงานขับรถดังกล่าวสิ้นสุดระยะเวลาลงแล้วถึง 12 ปี จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า แม้ตามสัญญาจ้างพนักงานขับรถเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างผู้รับจ้างมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ก็ตามแต่ตามหนังสือรับรองและค้ำประกันพนักงานขับรถเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 เพิ่งทำกับโจทก์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 โดยมิได้กำหนดไว้ในสัญญาว่าเป็นการค้ำประกันตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 หรือกำหนดระยะเวลาค้ำประกันไว้แต่อย่างใด แต่กลับระบุไว้ในข้อ 2 ตอนท้ายว่า จำเลยที่ 2 ยอมเป็นผู้ค้ำประกันหนังสือสัญญานี้ตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะหาบุคคลอื่นมาทำสัญญารับเป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ต่อกับจำเลยที่ 1 อีก และไม่ได้ขอถอนสัญญาค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันดังกล่าวยังคงมีผลบังคับ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด