คำพิพากษาฎีกาที่ 2879/57
ผิดสัญญาจ้างไปทำงานกับคู่แข่ง นายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาได้ แต่ค่าเสียหาย เป็นดุลพินิจของศาลจะกำหนด
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายถ่านหินสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานขาย มีหน้าที่เสนอขายถ่านหินให้แก่ลูกค้าของโจทก์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000 บาท และค่าเสื่อมรถยนต์เดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นค่าจ้าง 27,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่าภายในเวลา 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะงานหรือประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ หากฝ่าฝืนยอมให้โจทก์เรียกค่าเสียหายได้ ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างข้อ 9 และข้อ 11 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ และได้เข้าทำงานกับบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายในอัตรา 10 เท่า ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงิน 270,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 270,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานข้อ 9 และข้อ 11 เป็นข้อสัญญษที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2541 (ที่ถูก พ.ศ. 2540) เพราะการที่มีข้อห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ทำงานธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกันกับธุรกิจของโจทก์ทั้งในและนอกราชอาณาจักรนานถึง 2 ปี เป็นการปิดกั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำงานของจำเลยที่ 1 อันเป็นการเอาเปรียบจำเลยที่ 1 เป็นอย่างยิ่งจึงไม่สามารถใช้บังคับจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญษหลังเข้าทำงานแล้วประมาณ 3 เดือน จำเลยที่ 1 จำต้องยอมทำสัญญาเพื่อจะได้ทำงานต่อไป เหตุที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์เพราะดจทก์ไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่ให้คำมั่นไว้ จำเลยที่ 1 จึงไปทำงานกับผู้ประกอบการอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ภายหลังลาออกจำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับบริษัทฟินิกซ์คอมโมดิตี้ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าขายถั่วและข้าวเป็นหลักโดยมีถ่านหินเป็นส่วนน้อย ปัจจุบันจำเลยที่ 1 เพิ่งเข้าทำงานให้แก่บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายถ่านหินเช่นเดียวกันกับโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินส่วนเนื่องจากโจทก์ไม่เคยเสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปอบรมดูงานหรือเรียนรู้เพิ่มเติมแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายถ่านหินสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่เสนอขายถ่านหินให้แก่ลูกค้าของโจทก์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,000 บาท และค่าเสื่อมรถยนต์เดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ในระหว่างทำงานโจทก์จัดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีข้อตกลงในข้อ 9 และข้อ 11 กำหนดว่า ภายในเวลา 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีธุรกิจทั้งทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะงานหรือประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง เจ้าของ ผู้ถือหุ้น ที่ปรึกษา หรือกรรมการ ภายในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเซียหากฝ่าฝืนยอมชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับและ/หรือค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตรา 10 เท่า ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับหรือเป็นจำนวนเท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์และได้เข้าทำงานกับบริษัทฟินิกซ์คอมโมดิตี้ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าขายถั่วและข้าวเป็นหลักโดยมีถ่านหินบ้างเป็นส่วนน้อย ปัจจุบันจำเลยที่ 1 เข้าทำงานให้แก่บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายถ่านหินที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับโจทก์ ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวข้างต้นมิใช่เป็นการจำกัดห้ามจำเลยที่ 1 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 อาจกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำที่ห้ามนั้นก็เป็นการห้ามเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันกับงานหรือธุรกิจของโจทก์ ทั้งกำหนดระยะเวลาที่ห้ามไว้นั้นก็มีเพียง 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเท่านั้น ลักษณะของข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดทีเดียวเพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และกำหนดไว้ไม่นานเกินสมควร จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดกั้นการทำมาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ หาได้เป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่ถึงขนาดทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยที่ 1 จนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือสิทธิในการประกอบอาชีพของจำเลยที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญไม่ ข้อสัญญาเช่นนี้มีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายถ่านหินที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับโจทก์ เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นลูกจ้างกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะงานหรือประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 9 จำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงานและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่การที่สัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 11 กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับและ/หรือค่าเสียหายในอัตรา 10 เท่า ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์และจำเลยที่ 1 เปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับหรือทางได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายว่ามีอย่างไรบ้าง แม้อาจคาดเห็นได้ว่าโจทก์น่าจะได้รับความเสียหายจากการที่ต้องเสียบุคลากรให้แก่ผู้ประกอบการคู่แข่งซึ่งประกอบธุรกิจอย่างเดียวกัน แต่ทางไต่สวนก็ไม่ปรากฏว่าตำแหน่งพนักงานขายถ่านหินเป็นตำแหน่งงานที่ขาดแคลนถึงขนาดที่โจทก์ไม่สามารถจัดหารบุคลากรมาทดแทนจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับบริษัทผู้ประกอบการคู่แข่ง จำเลยที่ 1 นำประโยชน์จากความลับทางธุรกิจของโจทก์ใปใช้ในกิจการของคู่แข่ง หรือนำหรือชักชวนลูกค้าโจทก์ให้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าถ่านหินจากบริษัทคู่แข่ง รวมทั้งไม่ปรากฏในระหว่างทำงานโจทก์ได้จัดอบรมให้ความรู้ใดๆ แก่จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ได้เรียนรู้ลักษณะธุรกิจใดๆ เป็นพิเศษจากโจทก์อันเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือเพิ่มคุณค่าแก่โจทก์ เมื่อนำข้อเท็จจริงและเหตุผลเหล่านี้มาพิจารณาประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญา ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินอย่างเดียวแล้ว เห็นว่า ค่าเสียหายที่กำหนดในสัญญาสูงเกินส่วน และศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เห็นควรลดค่าเสียหายในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเพียง 20,000 บาท
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เบี้ยปรับหรือค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ประเด็นข้อพิพาทข้อนี้จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงสนับสนุนเพื่อประกอบการวินิจฉัยของศาล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ในการแถลงรับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเรื่องเบี้ยปรับหรือความเสียหายที่โจทก์ได้รับแต่ประการใด แต่ศาลแรงงานกลางมิได้หาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึงเป็นการปฏิบัติผิดพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ฉะนั้นเบี้ยปรับหรือค่าเสียหาย 20,000 บาท แม้เป็นการใช้อำนาจโดยกฎหมายซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องเบี้ยปรับหรือความเสียหายเพิ่มเติมและวินิจฉัยคดีใหม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เห็นได้ชัดว่าต้องการเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายมากกว่าที่ศาลแรงงานกลางกำหนดแต่เลี่ยงไปโต้แย้งว่าศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจในการกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายโดยไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน ทั้งที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลจดไว้มีความครอบคลุมชัดเจนและเพียงพอแล้ว จึงไม่ติดใจที่จนำพยานเข้าไต่สวนอีกต่อไปและขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามคำฟ้อง คำให้การ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด