คำพิพากษาฎีกาที่ 2851/57
จงใจกระทำผิดโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหาย ถือว่า กระทำละเมิดต่อนายจ้าง ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ 5/3 ฝ่ายธุรกิจ 5 เดือนมิถุนายน 2547 จำเลยได้รับมอบหมายตามอำนาจและหน้าที่ให้พิจารณาคำขอสินเชื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม คุณสมบัติผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ฐานะการเงิน เงินทุนหมุนเวียน ลักษณะกิจการ มูลค่าหลักประกัน ความสามารถในการชำระหนี้คืนและรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลลูกค้าโจทก์รายบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ในวงเงิน 73,000,000 บาท และออกไปตรวจเยี่ยมกิจการเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จัดทำรายงานวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมและเงื่อนไขการเบิกเงิน รายละเอียดหลักประกัน ข้อมูลประวัติกิจการผู้บริหาร ผู้ค้ำประกัน ผลการดำเนินงาน ความสามารถในการใช้เงิน โครงสร้างการลงทุนประวัติการติดต่อสถาบันการเงิน ประเมินความเสี่ยง ความเป็นไปได้ของโครงการ แนวโน้มอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยสำคัญทางธุรกิจ ตลอดถึงการกำหนดวงเงินและเงื่อนไขต่างๆ ให้เหมาะสมแก่ธุรกิจของลูกค้า แต่จำเลยทำเอกสารรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สินเชื่อว่าบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด มีทรัพย์สินรวม 141,646,000 บาท มีลูกหนี้การค้า 90,000,000 บาท สต๊อกสินค้า 22,962,000 บาท เงินหมุนเวียนในกิจการ 17,000,000 บาท นายวริศสิทธิ์ ธนหิรัญกาญจน์ เจ้าของกิจการมีเงินเข้าบัญชีเงินฝากช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2547 จำนวน 70,823,005 บาท ซึ่งตามข้อมูลวิเคราะห์สินเชื่อที่จำเลยเสนอจะพบว่ามีผลประกอบการดีมาก จำเลยตกแต่งรายรับลูกค้าเพื่อหลอกลวงโจทก์ หลังจากตรวจสอบเครดิตบูโรของนายวริศสิทธิ์พบว่า มีหนี้ค่าเช่าซื้อเครื่องจักร 28,490 บาท ค่าเช่าซื้อรถยนต์ 539,529 บาท อยู่ระหว่างผ่อนชำระและรายการเดินบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นายวริศสิทธิ์จำเลยก็นำเสนอเป็นบัญชีกระแสรายวันส่วนสำเนาเช็คสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าสินค้าก็ไม่มีการนำเข้าเรียกเก็บในวันเวลาและจำนวนเงินตามเช็คนอกจากนี้บริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท ต่อมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท ก็ไม่ปรากฏการนำเงินชำระค่าหุ้น และจำเลยได้เสนอขออนุมัติสินเชื่อก่อนลูกค้าจดทะเบียนเป็นนิตบุคคล และหลังจากโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อแล้ว จำเลยไม่ตรวจสอบการเบิกเงินให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการสินเชื่อชุดที่ 1 ครั้งที่ 32/2547 วันที่ 6 กันยายน 2547 จำเลยทำตัวเลขและวิเคราะห์สินเชื่อโดยไม่ใช้ความรู้ความสามารถพิจารณาวิเคราะห์สินเชื่อให้ดี ไม่ให้ข้อมูลที่ตรงกับความจริง ทั้งไม่ชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยง จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมตามที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งหรือข้อบังคับการทำงาน ทำให้คณะอนุกรรมการโจทก์หลงเชื่อจึงอนุมัติให้สินเชื่อบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ในวงเงิน 73,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด และนายวริศสิทธิ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.2088/2550 ของศาลแพ่ง ระหว่างฟ้องคดีโจทก์ได้เจรจากันซึ่งนายวริศสิทธิ์ได้ให้การว่า ตนเป็นผู้ลงชื่อในเอกสารจริง แต่ไม่ได้รับเงินตามที่กู้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่โจทก์เป็นผู้จัดการทำเอกสารรวมถึงเอกสารประกอบการเบิกถอนเงินจนไม่สามารถจ่ายเงินตามที่กู้ได้เนื่องจากมีรายได้ไม่มาก หลังจากศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาแล้ว บริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ไม่เคยชำระหนี้ 73,000,000 บาท เลย จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 73,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยเป็นพนักงานโจทก์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ตำแหน่งผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ 5/3 ฝ่ายธุรกิจ 5 ในการพิจารณาสินเชื่อบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด จำเลยเพียงตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติตลอดจนคำสั่งของโจทก์ ทั้งนำเสนอนายสมเกียรติ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ 5 ผู้บังคับบัญชา และคณะอนุกรรมการสินเชื่อชุดที่ 1 พิจารณาตามลำดับ คณะอนุกรรมการสินเชื่อชุดที่ 1 ได้ใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญพิจารณาสินเชื่อให้บริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ในวงเงิน 73,000,000 บาท ทั้งการเบิกจ่ายเงินครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นางสาวสุภาวดี คุ้มแว่นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระดับ 6 เป็นผู้จัดทำคำขอเบิก จ่ายเงินกู้ จำเลยได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการสินเชื่อชุดที่ 1 แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายเงินครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้อง จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของธนาคาร พ.ศ. 2551 ส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์ได้ยื่นฟ้องบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลสจำกัด และนายวริศสิทธิ์ ธนหิรัญกาญจน์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.2088/2550 ของศาลแพ่ง โจทก์สามารถบังคับจำนองนำที่ดินโฉลดเลขที่ 12974, 17800, 17862, 20980, 22444 และ 24900 ( ที่ถูก 24990 ) ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่เสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 18,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง ( วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า วันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 จำเลย เป็นพนักงานโจทก์เกี่ยวกับการวิเคราะห์สินเชื่อ ปกติทั่วไปจะมีการวิเคราะห์สินเชื่อโดยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อแต่ละกลุ่มธุรกิจ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาคือ ผู้จัดการส่วนกลุ่มธุรกิจผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ตามลำดับ แล้วเสนอคณะกรรมการโจทก์เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อกรณีที่พิพาท บริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ได้ขออนุมัติวงเงินสินเชื่อ 73,000,000 บาท จำเลยเป็นผู้วิเคราะห์โครงการ โดยจำเลยขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนกลุ่มธุรกิจ 5/3 ฝ่ายธุรกิจ 5 หลังจากจำเลยทำรายงานวิเคราะห์โครงการขอสินเชื่อแล้วได้เสนอนายสมเกียรติ กาญจนวัฒน์ อำนวยการฝ่ายธุรกิจ 5 ผู้บังคับบัญชาแล้วเสนอคณะกรรมการโจทก์พิจารณาอนุมัติ เกี่ยวกับเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงิน คณะกรรมการโจทก์ได้กำหนดตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1.4.1 ว่า ให้เบิกจ่ายเมื่อได้สั่งซื้อสแตนเลสมาสต๊อกเพื่อผลิตสินค้า โดยให้แสดงเอกสารการจ้างงานจากหน่วยงานราชการหรือเอกชนและเอกสารการสั่งซื้อสแตนเลสโดยให้เบิกได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของการจ้างงานแต่ละครั้ง หลังได้รับอนุมัติดังกล่าวได้มีการขอเบิกเงินในวันที่ 24 และวันที่ 28 กันยายน 2547 ตามเอกสารหมาย จ.2 และจ. 3 ส่วนวงเงินอีก 29,000,000 บาท ได้เบิกในวันที่ 5 และวันที่ 11 ตุลาคม 2547 ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 โจทก์เห็นว่าจำเลยทำรายงานวิเคราะห์โครงการขอสินเชื่อเท็จในส่วน 5.2 เรื่องโครงสร้างการลงทุนของโครงการ ส่วนที่ผู้กู้ออกเองเป็นเงิน 141,646,000 บาท ซึ่งความจริงบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส ไม่ได้ออกเลยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 และรายการเคลื่อนไหวบัญชีนายวริศสิทธิ์ ธนหิรัญกาญจน์ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 ระบุเป็นบัญชีกระแสรายวันแต่ความจริงเป็นบัญชีออมทรัพย์ โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจำเลย แต่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ คณะกรรมการจึงสอบสวนข้อเท็จจริงลับหลังจำเลย และสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.1 และคณะกรรมการวินัยโจทก์ได้พิจารณาลงโทษวินัยจำเลยตามความเห็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาโจทก์ฟ้องบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ให้ชำระหนี้เงินกู้ ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์บังคับจำนองที่ดินหลักประกันนำขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้เพียง 18,410,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ดังนี้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2553 บริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ยังคงค้างชำระหนี้โจทก์ 106,700,211.61 บาท ตามเอกสารหมาย จ.9 โจทก์สืบหาทรัพย์บริษัท อีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด แล้วแต่ไม่พบ จำเลยทำเอกสารตกแต่งรายรับลูกค้ารวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อหลอกลวงโจทก์ว่าผลประกอบการของบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด มีมาก ทำให้คณะอนุกรรมการโจทก์หลงเชื่อ จึงอนุมัติให้สินเชื่อบริษัทอีเกิ้ล สแตนเลส จำกัด ในวงเงิน 73,000,000 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สิน ถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด