คำพิพากษาฎีกาที่ 2841/57
ตกลงสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย ภายหลังเลิกจ้าง ใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลย จ้างโจทก์เข้าทำงานครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เลขานุการผู้บริหาร ได้รับค่าจ้างเดือนละ 70,250 บาท ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมีพนักงานทำหน้าที่เช่นเดียวกับโจทก์อยู่แล้ว 1 คน ซึ่งมีประสบการณ์และผลงานโดยรวมดีกว่าโจทก์ และไม่มีลักษณะงานอื่นที่โจทก์มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งที่จะย้ายโจทก์ไปทำงานได้ โจทก์จึงตกลงกับจำเลยและยินยอมให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีจนเป็นที่พอใจของโจทก์ พร้อมกับสละสิทธิฟ้องร้อง เรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินตามกฎหมายต่อจำเลยต่อไป และโจทก์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกล่าวคำพูดเท็จต่อพนักงานคนอื่น ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่เลขานุการผู้บริหาร เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 70,250 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 และโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยกรณีเลิกสัญญาจ้างเป็นค่าชดเชย 702,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 131,133 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 31,613 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีสาเหตุอันจำเป็นและเพียงพอแก่การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในเรื่องค่าเสียหายนั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์และได้มีการเจรจาในเรื่องเงินที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยตามบทสนทนาในวีซีดีวัตถุพยานหมาย วจ.1 และหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 หนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 ทำขึ้นภายหลังจากโจทก์ทราบดีว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอิสระพ้นพันธะกรณีและอำนาจบังคับบัญชาจากจำเลยแล้ว โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 เป็นการทำไปตามความสมัครใจของโจทก์ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ หนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความระบุว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ แก่จำเลยอีกต่อไปเป็นการสละสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดอันจะพึงได้รับตามกฎหมายจากจำเลยอีกแม้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความตามหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 ที่ระบุว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ แก่จำเลยอีกต่อไปนั้นตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นการสละสิทธิของโจทก์ เพราะในขณะนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ทราบว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ยังไม่ทราบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อความที่ระบุไว้เช่นนั้นมีความหมายว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ เกี่ยวกับค่าชดเชยตามที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 และในขณะทำหนังสือดังกล่าวโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่เพราะจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2554 ข้อความนี้จึงขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเห็นว่า ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อนั้นโจทก์ลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับ ขณะลงลายมือชื่อโจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงมีอิสระที่จะตัดสินใจ ค่าเสียหายที่โจทก์สละสิทธิเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งไม่ใช่เงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การที่โจทก์สละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อความดังกล่าวย่อมแปลได้ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่จำเลยอีกต่อไปที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในครั้งนี้ และแม้ขณะที่โจทก์ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ทราบว่าโจทก์จะเรียกร้องเงินค่าเสียหายได้ตามกฎหมายก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์กลับมีสิทธิเรียกร้องได้อีกเพราะโจทก์ได้สละสิทธินี้แล้ว ทั้งโจทก์จะอ้างว่าไม่ทราบว่ากฎหมายให้เรียกเงินค่าเสียหายนี้ได้ก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด