คำพิพากษาฎีกาที่ 2349/57
ก้าวร้าวไม่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา ถือว่ากระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 โจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือให้มีผลทันทีโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 54,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่ขาด 18,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสองจำนวนหลัง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหลายครั้งและถูกเตือนเป็นหนังสือหลายฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 4 สิงหาคม 2552 กรณีไม่ตั้งใจทำงานจนงานมีความผิดพลาด ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กรณีนำทรัพย์สินของจำเลยไปใช้ส่วนตัวที่บ้านและพูดจาก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา วันที่ 7 สิงหาคม 2552 โจทก์ทำบันทึกต่อจำเลยว่าจะตั้งใจทำงานและให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์เตือนโจทก์เป็นหนังสือกรณีขาดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่ลาและไม่เคารพผู้บังคับบัญชาพร้อมกับเสนอความเห็นให้เลิกจ้างโจทก์ต่อจำเลยเพื่อพิจารณาระหว่างนำเสนอเรื่องต่อจำเลย โจทก์ละทิ้งงานตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2552 เรื่อยมาทั้งที่จำเลยยังไม่มีคำสั่งเลิกจ้าง เป็นการละทิ้งงานติดต่อกันเกิน 3 วัน ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 54,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 สิงหาคม 2552 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาได้ความว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2550 โจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย นางสาวพัชรินทร์ ชัยวิรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและผู้จัดการใหญ่ของจำเลย เป็นผู้รับโจทก์เข้าทำงาน และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดวันทำงานและวันหยุดของลูกจ้างว่า ให้ทำงานสัปดาห์ละ 6 วันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ วันหยุดประจำสัปดาห์คือวันอาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณียึดถือตามวันหยุดของข้าราชการ ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างปีหนึ่งไม่เกิน 30 วัน นอกจากนี้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดเรื่องวินัยและโทษทางวินัยว่าจำเลยพิจารณาลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างต่อพนักงานที่ประพฤติมิชอบได้ ดังนี้ 1. ตำหนิตักเตือนด้วยวาจา 2. ตำหนิตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 3. ลดตำแหน่งและ 4. เลิกจ้างหรือปลดออก ระหว่างทำงานโจทก์พูดคุยกับบุคคลภายนอกทางอินเตอร์เนตทำให้งานพิมพ์บัตรสมาชิกผิดพลาดซึ่งจำเลยลงโทษ โจทก์แล้วด้วยการเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ระหว่างเวลา 14.30 น. – 18.00 น. จำเลยจัดการประชุมขึ้นโดยนางสาวพัชรินทร์ ผู้จัดการใหญ่ เป็นประธานการประชุม นางเฉิน อิ๋ง กรรมการของจำเลย นางสาววาสินี ทวีอภิรดีลาภ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล พนักงานอื่น รวมทั้งโจทก์ ร่วมประชุมด้วย ระหว่างประชุมมีเหตุการณ์พูดจาโต้เถียงกันและโจทก์ออกจากที่ประชุม นอกจากนี้ระหว่างประชุมจำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เป็นฉบับที่ 2 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2552 โดยนางสาวพัชรินทร์แจ้งเตือนโจทก์ตามหนังสือดังกล่าว กรณีที่โจทก์นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยกลับบ้านไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีพฤติกรรมพูดจาก้าวร้าวโวยวายไม่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา ต่อมาโจทก์ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 8 – 12 สิงหาคม 2552 เนื่องจากวันที่ 9 สิงหาคม 2552 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันที่ 12 สิงหาคม 2552 เป็นวันแม่ซึ่งเป็นวันหยุดราชการอันเป็นวันหยุดตามประเพณีส่วนวันที่ 11 สิงหาคม 2552 โจทก์ป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4 โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง สำหรับการหยุดงานวันที่ 8 และวันที่ 10 สิงหาคม 2552 นั้น โจทก์ยื่นใบลาหยุดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้วแต่จำเลยอนุญาตให้หยุดได้เฉพาะวันที่ 10 สิงหาคม 2552 โจทก์จึงขาดงานเพียง 1 วัน คือในวันที่ 8 สิงหาคม 2552 แต่อเมื่อโจทก์ไปทำงานในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จำเลยมีหนังสือแจ้งต่อโจทก์โดยมีข้อความว่า “เนื่องด้วยนางสาวธัญญรัศม์ เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ (โจทก์ ) พนักงานฝ่ายการออกแบบสิ่งพิมพ์ แผนกการตลาด ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ให้ความเคารพต่อผู้บังคับบัญชาขณะปฏิบัติหน้าที่ในเวลางาน ดังนี้ 1. โดยระหว่างการกล่าวตักเตือนด้วยวาจาจากประธานที่ประชุมหรือผู้จัดการใหญ่ประจำบริษัทฯ ต่อท่าน (โจทก์) และท่าน (โจทก์) ได้ลุกออกจากที่นั่งไปทันทีด้วยความไม่พอใจ โดยที่ประธานที่ประชุมยังกล่าวไม่จบ เป็นการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการไม่เคารพผู้บังคับบัญชา และไม่ให้เกียรติกับที่ประชุม 2. การหยุดงานเมื่อวันที่ 8 และวันที่ 10 สิงหาคม 2552 โดยไม่มีการแจ้งหัวหน้างานหรือยังไม่ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้าฝ่ายบุคคลถือว่าขาดงาน และท่าน (โจทก์) ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นทางบริษัทมีสิทธิออกหนังสือเตือนและให้พนักงานออกจากงานทันที ทางบริษัทฯ จึงเห็นสมควรว่าท่าน (โจทก์) ได้ทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ ข้อที่ 4.12,6, 9, 13 ด้วยการแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการไม่เคารพผู้บังคับบัญชา จึงจำเป็นต้องออกจดหมายเตือนเป็นฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายและจำเป็นต้องให้ท่าน (โจทก์) พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ทันทีนับแต่วันที่ท่าน (โจทก์) ได้รับจดหมายฉบับนี้” ด้านล่านของหนังสือฉบับนี้นางสาวพัชรินทร์ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ลงลายมือชื่อไว้ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวเป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แล้ว สำหรับเหตุเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างประการแรกที่ว่าโจทก์ลุกออกจากที่นั่งประชุมทันทีด้วยความไม่พอใจระหว่างที่ประธานกำลังว่ากล่าวตักเตือนโจทก์นั้นจำเลยลงโทษโจทก์แล้วด้วยการออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2552 และเหตุเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างประการหลังว่าขาดงานและละทิ้งหน้าที่ 3 วันติดต่อกันนั้นโจทก์ขาดงานเพียง 1 วันคือวันที่ 8 สิงหาคม 2552 โจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ 3 วัน ทำงานติดต่อกัน ดังนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เนื่องจากโจทก์เคยทำงานผิดพลาดและนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตรวมทั้งพูดจาก้าวร้าวโวยวายเป็นการไม่เคารพผู้บังคับบัญชาถือว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2552 ผู้บังคับบัญชามีหนังสือเตือนโจทก์ว่าขาดงานติดต่อกัน 3 วันโดยไม่ลา ไม่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ทางผู้บังคับบัญชาจึงมีความเห็นสมควรที่จะให้เลิกจ้างโจทก์โดยจะนำเรื่องเสนอทางบริษัทฯ ระหว่างนำเรื่องเสนอโจทก์ละทิ้งการทำงานตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2552 ถึงปัจจุบัน ทั้งที่จำเลยยังไม่มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เมื่อโจทก์ละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกิน 3 วันนับแต่วันที่ 13 ดังกล่าว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์แล้วโดยให้มีผลทันที โจทก์จึงพ้นสภาพลูกจ้างและไม่ต้องมาทำงานกับจำเลยอีกนับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์ไม่ไปทำงานหลังจากนั้นย่อมไม่ใช่การขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด