คำพิพากษาฎีกาที่ 2361/57
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่ค่าจ้าง คิดดอกเบี้ยในอัตรา 7. 5 ต่อปี
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ทำหน้าที่ช่างซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,198 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้เนเดือน ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2552 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ทั้งที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงปรากฎตามเอกสาสรการเลิกจ้างท้ายคำฟ้อง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ไม่มีงานทำต้องขาดรายได้ ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการตกงาน โดยที่จำเลยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อเป็นการชดเชยบรรเทาความเดือดร้อนของโจทก์ และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้โจทก์เตรียมหางานใหม่ได้ทัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 37,188 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เป็นเงิน 6,198 บาท และขอเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 37,188 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 37,188 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,198 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 37,188 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,574 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่เป็นพนักงานควบคุมเครื่องตัดเหล็ก ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานสูง แต่โจทก์กลับกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหลายครั้ง เช่น หลับในเวลาทำงาน ออกนอกโรงงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อเหตุทะเลาวิวาทในหมู่พนักงาน ซึ่งจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 6,198 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 เดิมโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานตัดเหล็ก แต่โจทก์ทำงานผิดพลาดล่าช้า จึงการย้ายโจทก์ไปทำงานยังแผนกซ่อมบำรุงจะได้รับมอบหมายงานจากหัวหน้าเป็นคราวๆ ไปซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องตัดเหล็กโดยตรง โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,198 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนและประกาศให้โจทก์ทราบแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งจำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 – ล.4 ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบคำเตือนทุกครั้ง ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์เรื่องโจทก์นอนหลับในเวลาทำงานอันเป็นการผิดวินัยพนักงานหมวดที่ 9 ข้อ 3.3.2 ที่กำหนดว่าพนักงานต้องใช้เวลาในการทำงานทั้งหมดของตนให้เป็นประโยชน์ต่องานตามหน้าที่ รายละเอียดตามหนังสือคำเตือนเอกสารหมาย ล.4 ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2552 โจทก์ทำผิดวินัยข้อเดียวกันโดยนอนหลับที่แผนกซ่อมบำรุงและบริเวณข้างเครื่องตัดเหล็ก รายละเอียดปรากฏตามหนังสือสอบสวนการกระทำความผิดเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อยอมรับไว้ด้วย จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีการชดเชยใดๆ และมีผลทันที ตามหนังสือเลิกจ้าง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบหนังสือเลิกจ้างพร้อมรับค่าจ้างเดือนธันวาคม 2552 ไปในวันเดียวกันแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,198 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ เป็นเงินค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ เห็นว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในการเลิกสัญญาจ้าง เพื่อปล่อยลูกจ้างออกจากงานเสียทันที มิใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่คำจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าหนังสือคำเตือนฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2552 ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำเช่นนี้ซ้ำอีก ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ( 4 ) ทั้งที่ปรากฏข้อความที่กล่าวในหนังสือคำเตือนฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2552 แล้ว กับอุทธรณ์ว่าที่โจทก์นอนหลับในที่ทำงานวันที่ 22 ธันวาคม 2552 เพราะสูดดมสารทินเนอร์จากการทำงานทาสีให้จำเลยทำให้อ่อนเพลีย การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงแต่เลี่ยงกล่าวเพื่อให้เป็นข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด