คำพิพากษาฎีกาที่ 15779/55
ฟ้องประเด็นละเมิด กระทำผิดสัญญาจ้าง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีอายุความ 10 ปี
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 นายบุญเรือง โยพนัสศักดิ์ ( ผู้ตาย ) กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยร่วมกันนำรถยนต์โดยสารของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 12 – 3493 กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ 901 – 1233 กรุงเทพฯ – อยุธยา ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนนอกเวลาการเดินรถโดยนายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวไปดื่มสุราและอยู่ในสภาพมึนเมา เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารคันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุตกลงข้างทางรถไปแช่อยู่ในน้ำทั้งคันจนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่บริเวณด่านประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น การกระทำของบุคคลทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานขับรถเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พุทธศักราช 2532 ข้อ 39 ( 2 ) และ ( 8 ) เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งไล่นายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 ออกจากงานและให้ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ความเสียแก่โจทก์ เป็นค่ายกลากรถของโจทก์จากสถานีตำรวจทางหลวง 1 ถึงอู่รังสิตคิดเป็นเงินจำนวน 16,500 บาท โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถโดยสารคันที่เกิดเหตุให้บริษัทธนบุรีบัสบอดี้ จำกัด เป็นเงินจำนวน 211,539,41 บาท และได้จ่ายค่าซ่อมรถโดยสารคันที่เกิดเหตุเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง จำนวนเงิน 84,620 บาท 25,750 บาท และ 95,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 433,409.41 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของนายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนิ้ร่วมในความเสียหายที่นายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดดังกล่าวโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดในวงเงินค้ำประกันคนละ 50,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้นำเงินมาชำระจำนวน 2,000 บาท โจทก์ได้หักเงินโบนัสที่นายบุญเรืองและจำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับเป็นเงินจำนวน 3,966,66 บาท จึงคงเหลือหนี้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 427,442,75 บาท โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในวงเงินค้ำประกันที่เหลือจากการนำเงินมาชำระแล้วบางส่วนจำนวน 48,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินค้ำประกันจำนวน 50,000 บาท ตามที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ ต่อมานายบุญเรืองได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุญเรืองจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าเสียหายดังกล่าว ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 427,442.75 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในวงเงินค้ำประกันจำนวน 48,000 บาท และจำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในวงเงินค้ำประกันจำนวน 50,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 427,442.75 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 48,000 บาท และจำเลยที่ 4 รับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ฟ้องว่าลูกจ้างทำละเมิดนอกเวลาปฏิบัติงาน จึงเป็นคดีละเมิดทั่วไปไม่ใช่คดีแรงงาน ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ค่าเสียหายสูงเกินจริง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 – ที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 222,072.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ( ฟ้องวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงินไม่เกินจำนวน 48,000 บาท และจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินไม่เกินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของวงเงินที่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 รับผิดไม่เกินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และ ที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่านายบุญเรือง โยพนัสศักดิ์ (ผู้ตาย) และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยกระทำผิดระเบียบของโจทก์ จึงเป็นฟ้องทั้งในฐานะกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างนายจ้างและในฐานะลูกจ้างกระ ทำละเมิดต่อนายจ้าง ให้ลูกจ้างรับผิดชอบสัญญาจ้างแรงงาน จึงใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด