คำพิพากษาฎีกาที่ 19491/56
ตกลงยินยอมให้หักค่าจ้างชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ นายจ้างสามารถหักค่าจ้างได้ตามหนังสือยินยอมโดยไม่ต้องฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานควบคุมวัตถุดิบ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,095 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ในระหว่างทำงาน จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2548 – เดือนเมษายน 2550 เดือนละ 700 บาท รวม 23 เดือน เป็นเงิน 16,100 บาท และค่าจ้างเดือนกรกฎาคม 2550 เป็นเงิน 700 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,800 บาท โดยไม่ได้รับความผิดยอมจากโจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าจ้าง 16,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานอูช่าสยามสตีลย์ อินดัสตรีย์ จำกัด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินจำนวน 250,000 บาท ของนายสุรชัย ปานบัวคำ สมาชิกสหกรณ์ต่อสหกรณ์โดยโจทก์ตกลงว่าหานายสุรชัยผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินได้ส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้แทนนายสุรชัย จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาแล้วให้จำเลยคืนเงินค่าจ้าง 16,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ( 9 สิงหาคม 2550 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานควบคุมวัตถุดิบ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,095 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ในระหว่างทำงานนายสุรชัย ปานบัวคำ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานอูช่าสยามสตีลย์อินดัสตรีย์ จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์ โดยมีโจทก์นายจำเนียร โชคเหมาะ และนายสุรพงษ์ รัตนมณเฑียร ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของนายสุรชัยต่อสหกรณ์ ต่อมานายสุรชัยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2549 ( ที่ถูกเป็น 2548 ) ถึงเดือนเมษายน 2550 และเดือนกรกฎาคม 2550 เดือนละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 16,800 บาท ส่งให้แก่สหกรณ์ โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งในหนี้ที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในเรื่องจำนวนเงินที่นายสุรชัยกู้ยืมไปจากสหกรณ์ ยอดหนี้ที่นายสุรชัยค้างชำระ และลายมือชื่อของผู้รับเงินในหนังสือกู้ยืมเงินไม่เหมือนกับลายมือชื่อของนายสุรชัย แล้ววินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์มีต่อสหกรณ์เป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ เมื่อสหกรณ์ยังไม่ได้ฟ้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงไม่อาจนำหนี้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันมาหักจากค่าจ้างของโจทก์ได้ การที่จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2548 - เดือนเมษายน 2550 และเดือนกรกฎาคม 2550 เดือนละ 700 บาท รวมเป็นเงิน 16,800 บาท เพื่อนำไปจ่ายให้แก่สหกรณ์ จึงเป็นการหักค่าจ้างโดยไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างที่หักแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงประเด็นตามข้อหาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์โดยไม่รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมเป็นหนังสือให้จำเลยหักงเนได้ของโจทก์เพื่อนำส่งสหกรณ์ตามสัญญาค้ำประกัน ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์หรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางนำเรื่องหนี้ของบุคคลที่โจทก์ค้ำประกันว่ายังมีข้อต่อสู้อยู่ ซึ่งมิได้เกี่ยวกับเรื่องความยินยอมของโจทก์ยกมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงตามประเด็นในคำฟ้อง อีกทั้งเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าประเด็นที่ปรากฏในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่จำเลยหักค่าจ้างโจทก์เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากโจทก์เป็นการหักค่าจ้างโดยชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 76 หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ตกลงหากนายสุรชัยผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินได้ของโจทก์ส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้แทนนายสุรชัยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 6 ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ ในกรณีที่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้างได้ และการหักเงินในกรณีดังกล่าวก็ไม่เกินร้อยละ 10 ตามมาตรา 76 วรรคสอง ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์เพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างคืนแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.