คำพิพากษาฎีกาที่ 15257/56
“ งานโครงการตามมาตรา 118 วรรค 4 ” บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ว่าจ้างลูกจ้างทำงานตามโครงการที่รับเหมา ถือว่าจ้างงานในปกติธุรกิจของนายจ้าง มิใช่งานโครงการ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งที่ 7/2550 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์ว่าจ้างนายมานพ แคะสูงเนิน ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย อัตราค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท นายสำราญ คำทอง ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย อัตราค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท นางสุรีพร ประคำยะเต ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ อัตราค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายบุญรัตน์ ศิริบุตร ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้า อัตราค่าจ้างเดือนละ 40,000 บาท โดยทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดเวลาที่ทำสัญญาจ้างต่อกัน แม้งานตามโครงที่โจทก์จ้างลูกจ้างดังกล่าวเป็นงานตามโครงการปกติของโจทก์ แต่เป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และงานตามโครงการของโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี เข้าข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 3 และ วรรค 4 การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างดังกล่าวจึงมิชอบ และที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลา 8,875.36 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 8,000.04 บาท แก่นายบุญรัตน์นั้นก็มิชอบ เนื่องจากนายบุญรัตน์ทำงานในวันหยุด 32 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน 5,333.33 บาท และทำงานล่วงเวลา 4 ชั่งโมง คิดเป็นเงิน 1,000.02 บาท เท่านั้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 7/2550
จำเลยให้การว่า ในการออกคำสั่งตามฟ้องนั้น เนื่องจากโจทก์และลูกจ้างให้การตรงกันว่าโจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงงาน อันเป็นสภาพธุรกิจโดยทั่วไปของโจทก์ ซึ่งหมายความว่างานก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 3 และวรรค 4 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยโดยทำสัญญาแต่ละฉบับเป็นช่วง ๆ ละไม่เกิน 3 เดือน สำหรับนายบุญรัตน์ ศิริบุตร ได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด โดยโจทก์ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด แม้โจทก์จะอ้างว่ามีหนังสือกำหนดให้จ่ายค่าล่วงเวลาเฉพาะลูกจ้างซึ่งรับเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท แต่เป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ย่อมเป็นโมฆะ นายบุญรัตน์จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 4 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการจ้างงานของโจทก์กับนายมานพ แคะสูงเนิน นายสำราญ คำทอง นางสุรีพร ประทำยะเต และนายบุญรัตน์ ศิริบุตร ลูกจ้างทั้งสี่ผู้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเป็นการจ้างงานที่ระบุระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และโจทก์เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 3 ทั้งงานตามโครงการตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และงานตามโครงการของโจทก์อันเป็นมูลคดีนี้ก็มีระยะเวลาแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี ตามข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 3 และวรรค 4 นั้น เห็นว่าการจ้างงานในโครงการเฉพาะตามมาตรา 118 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จะต้องเป็นงานที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง เมื่อหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทโจทก์เอกสารหมาย จ.1 ระบุวัตถุประสงค์ของโจทก์ใน ( 23 ) ว่าประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัยสถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อน อุโมงค์และงานก่อสร้างอย่างอื่นทุกชนิด รวมทั้งรับทำงานโยธาทุกประเภท และศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จ้างลูกจ้างทั้งสี่เพื่อทำงานในโครงการก่อสร้างสถานีส่งแก๊สบนฝั่งที่ 3 ( OCS#3 ) ที่โจทก์ทำสัญญาเป็นผู้รับเหมาทำโครงการก่อสร้างกับบริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) การจ้างลูกจ้างทั้งสี่ของโจทก์จึงเป็นการจ้างให้ลูกจ้างทำงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นที่โจทก์จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 4 ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด