คำพิพากษาฎีกาที่ 15782/55
ระเบียบกำหนดจ่ายเงินพิเศษ ( gratuity ) เนื่องจากเกษียณอายุ โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายแตกต่างจากการจ่ายค่าเชย ถือว่านายจ้างยังไม่ได้จ่ายค่าชดเยตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายระบบคุณภาพ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 120,292 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแก่โจทก์โดยให้มีผลว่าโจทก์จะถูกปลดออกจากการทำงานของบริษัทจำเลยหลังจากวันที่ 31 มกราคม 2550 เป็นต้นไป การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 1,202,920 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 3,007,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และจ่ายชดเชย 1,202,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนสุดท้ายเดือนละ 120,292 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าแจ้งให้โจทก์ทราบถึงกำหนดการเกษียณอายุซึ่งถือเป็นการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 เท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 6 เรื่องการพ้นสภาพการเป็นพนักงานข้อ 6.3 การเกษียณอายุ ได้กำหนดไว้ว่าพนักงานขายครบเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี ซึ่งโจทก์ทราบถึงกำหนดการเกษียณอายุตามข้อบังคับของจำเลยดีอยู่แล้ว ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2550 จำเลยมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างและจ่ายเงินตามกฎหมายแรงงานให้โจทก์ทราบ โดยจำเลยได้จ่ายเงินเดือนของเดือนมกราคม 2550 เป็นเงิน 120,292 บาท เงินเดือนพื้นฐาน 20 เดือน (เฉลี่ยคำนวณจากฐานของเงินเดือนระหว่างปี 2548 ,2549 และ 2550) เป็นเงิน 1,959,840 บาท และเงินชดเชยวันหยุดเฉลี่ยคำนวณจากเงินเดือน 97,992 บาท เป็นเงิน 738,206 บาท รวมเป็นเงิน 2,818,338 บาท จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้วกล่าวคือ จำเลยมีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานต่างชาติโดยจำเลยได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ได้รับสิทธิให้รับเงินเกษียณอายุจากจำเลยตามหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2532 โดยการจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ได้ตกลงกันไว้กรณีเกษียณอายุดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินพิเศษ โครงการเลขที่ 0012 ส่วนที่ 6 ผลประโยชน์เป็นข้อตกลงที่จำเลยใช้กับพนักงานต่างชาติเท่านั้น การกำหนดระเบียบหรือข้อตกลงเรื่องการจ่ายเงินกรณีเกษียณอายุดังกล่าวจำเลยมีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในการจ่ายให้เพื่อเป็นเงินได้ครั้งเดียวเมื่อจำเลยสิ้นสุดการจ้างพนักงานต่างชาติที่ทำงานให้แก่จำเลย (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เรียกว่าค่าชดเชย) โดยจ่ายให้ในหลักเกณฑ์และจำนวนที่มากกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในขณะนั้น หมายความว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานต่างชาติกรณีเกษียณอายุนั้น จำเลยได้จ่ายโดยคำนวณรวมค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว ทั้งนี้พนักงานที่เป็นคนไทยจะไม่มีสิทธิได้รับเงินตามระเบียบหรือข้อตกลงเรื่องการจ่ายเงินกรณีเกษียณอายุดังกล่าวเนื่องจากพนักงานที่เป็นคนไทยจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแรงงานแล้ว การคำนวณเงินกรณีเกษียณอายุสำหรับโจทก์นั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ว่า พนักงานที่มีอายุการทำงานตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป อัตราการจ่ายเท่ากับหนึ่งเดือนของเงินเดือนคิดเฉลี่ยจาก 3 ปี สุดท้ายของการทำงาน คูณจำนวนปีที่ทำงานแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 20 เดือน โดยข้อเท็จจริงโจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายจำนวน 120,292 บาท เงินเดือน 20 เดือน (เฉลี่ยคำนวณจากฐานของเงินเดือนระหว่างปี 2548,2549,2550) เป็นเงิน 1,959,840 บาท ซึ่งได้มากกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย โจทก์ได้รับค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุมากกว่าพนักงานที่เป็นคนไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยอีก จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการเกษียณอายุซึ่งโจทก์ก็ทราบดีถึงระเบียบดังกล่าวของจำเลย ประกอบกับการเกษียณอายุเมื่อโจทก์มีอายุครบ 55 ปี ถือเป็นคุณสมบัติของพนักงานข้อหนึ่ง เมื่อโจทก์ครบเกษียณอายุจึงถือว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติจากการเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย มิได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 979,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (13 กุมภาพันธ์ 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติอินเดีย โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตามหนังสือการจ้างงานลงวันที่ 3 เมษายน 2525 เริ่มทำงานวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ในตำแหน่ง INVENTORY CONTROLLER อัตราค่าจ้างเดือนละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 กรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งโจทก์ว่าจำเลยได้ปรับเงินเดือนของโจทก์เป็นเดือนละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2532 โดยระบุด้วยว่าโจทก์จะยังมีสิทธิได้รับการจ่าย gratuity ตามกฎระเบียบของจำเลยด้วย ข้อตกลงและเงี่อนไขการจ้างงานของโจทก์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2549 กรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ แจ้งว่าจำเลยได้ปรับเงินเดือนของโจทก์เป็นเดือนละ 97,992 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยระบุด้วยว่าข้อตกลงและเงื่อนไขการจ้างของโจทก์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2542 กำหนดการเกษียณอายุไว้สำหรับลูกจ้างชายเมื่ออายุครบ 55 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 โจทก์ได้รับหนังสือจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยแจ้งว่าโจทก์จะถูกปลดออกจากงานหลังจากวันที่ 31 มกราคม 2550 และในวันที่ 31 มกราคม 2550 โจทก์ได้รับเช็คจากจำเลย ระบุรายการเป็นเงินเดือนของเดือนมกราคม 2550 จำนวน 120,292 บาท เงินเดือนเฉลี่ยของปี 2548 ปี 2549 ปี 2550 รวม 20 เดือน จำนวน 1,959,840 บาท วันหยุดสะสมที่แลกเป็นเงินได้ 226 วัน จำนวน 738,206 บาท รวมเป็นเงิน 2,818,338 บาท ซึ่งการจ่าย gratuity ให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการจ่าย gratuity ตามโครงการเลขที่ 0012 เอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.3 ซึ่งระบุว่า
หมวด 6 ผละประโยชน์
11 (1) เมื่อลูกจ้างเกษียณหรือถูกปลดออกจากงานหรือเสียชีวิต การจ่าย gratuity จะเป็นไปตามกฎระเบียบข้างล่างนี้
(ก) ระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปี อัตราการจ่าย gratuity เท่ากับ 15 วันขึ้นไป แต่น้อยกว่า 10 ปี ของเงินเดือนสำหรับแต่ละปีที่ทำครบปีโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับ
(ข) ระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 10 ปี อัตราการจ่าย gratuity เท่ากับ 3 ใน 4 ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 15 ปี ของเงินเดือนสำหรับแต่ละปีที่ทำครบปีโดยคำนวณจากฐานของเงินเดือนที่ได้รับโดยเฉลี่ยระหว่าง 3 ปีสุดท้ายของการทำงาน
(ค) ระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 15 ปี อัตราการจ่าย gratuity เทากับเงินเดือนขึ้นไป 1 เดือน สำหรับแต่ละปีที่ทำครบปีโดยคำนวณจากฐานของเงินเดือนที่ได้รับโดยเฉลี่ยระหว่าง 3 ปีสุดท้ายของการทำงาน ซึ่งจำนวนมากที่สุดเท่ากับ 20 เดือน
จำเลยได้จ่าย gratuity ( ซึ่งโจทก์แปลว่า “เงินบำเหน็จ” ส่วนจำเลยแปลว่า “เงินพิเศษ” ) ให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 1,959,840 บาท เมี่อวันที่ 31 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นการจ่าย gratuity ตามโครงการเลขที่ 0012 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ่าย gratuity ให้แก่ลูกจ้างทั้งในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุการทำงาน กรณีถูกปลดออกจากงาน และกรณีเสียชีวิตมิใช่กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างเพียงกรณีเดียว จำนวน gratuity ที่จ่ายก็กำหนดระยะเวลาทำงานไว้เป็น 3 ระยะ คือ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 10 ปี ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 15 ปี และตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งอัตราเงินเดือนที่นำมาคำนวณก็มีสัดส่วนตามระยะเวลาทำงาน มิใช่จ่ายตามกำหนดระยะเวลาทำงานเป็น 5 ระยะ คือ ครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ครบ 10 ปีขึ้นไป โดยคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายดังเช่นการจ่ายค่าชดเชย gratuity มีวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การจ่าย gratuity จึงถือว่าเป็นการจ่ายเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างแม้เมื่อคำนวณ gratuity แล้วจะมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย ก็มิใช่ “ค่าชดเชย” ตามบทกฎหมายที่กล่าวถึงข้างต้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จำเลยก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการเกษียณอายุ ซึ่งโจทก์ทราบดีถึงข้อบังคับเกี่ยวการทำงานของจำเลยว่าพนักงานขายครบเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี แม้จำเลยมิได้ให้โจทก์พ้นสภาพพนักงานทันทีเมื่ออายุครบ 55 ปี แต่เมื่อโจทก์มีอายุครบ 5 ปี แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควรและมิได้เกิดจากการกลั่นแกล้ง จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการจ่ายเงิน gratuity กรณีลูกจ้างเกษียณอายุเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า แม้เงิน gratuity จะมีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชย แต่จำเลยก็จ่ายเงินไปจำนวน 1,959,840 บาท ซึ่งมากกกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานถือได้ว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกนั้นเห็นว่า เงิน gratuity ตามระเบียบการจ่ายเอกสารหมาย จ.6 และ ล.3 เป็นการจ่ายเงินแก่ลูกจ้างทั้งกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุ กรณีถูกปลดออกจากงาน และกรณีเสียชีวิต อีกทั้งวิธีการคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างก็ยังแตกต่างจากค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 อย่างชัดเจน จำเลยแปลความเงิน gratuity นี้ว่าเป็นเงินพิเศษ ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ในการจ่ายของจำเลยว่าเป็นเงินพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินที่กฎหมายบัญญัติ และประสงค์ที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงทุกกรณี เมื่อเงิน gratuity มีวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย แม้จำเลยจะจ่ายเงิน gratuity ในอัตราที่มากกว่าค่าชดเชยก็ตาม จำเลยก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด