คำพิพากษาฎีกาที่ 2145/57
เจรจาให้ลาออก ลูกจ้างขอค่าชดเชย นายจ้างไม่คุยด้วย แต่ยังไม่ได้บอกเลิกจ้างและยังไม่ปรากฎว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและไม่ให้เข้าทำงานต่อ ยังไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ( อย่าเข้าใจไปเอง ) ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 22,665 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 7 และ 23 ของเดือน ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2551 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด แต่โจทก์ป่วยเป็นวัณโรคกำลังรักษาตัวและจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 67,995 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 16 วัน เป็นเงิน 12,088 บาท แต่จำเลยไม่จ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,088 บาท และค่าชดเชย 67,995 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 6,500 บาท แต่จ่ายให้เพิ่มเติมหากปฏิบัติงานครบถ้วนตามเงื่อนไขของจำเลย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2551 จำเลยไม่ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ยื่นใบลาหยุดเนื่องจากป่วย เมื่อหายดีแล้วจะมาทำงานตามปกติ วันที่ 24 มีนาคม 2551 โจทก์นำใบรับรองแพทย์มายื่นต่อจำเลยเพื่อประกอบใบลาหยุด วันที่ 3 เมษายน 2551 โจทก์มาพบจำเลยขอความช่วยเหลือ วันที่ 8 เมษายน 2551 จำเลยให้เงินช่วยเหลือพิเศษกรณีเจ็บป่วย 7,640 บาท โดยรวมจ่ายกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับอีก 2,360 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 โจทก์มาพบจำเลยเพี่อขอปฏิบัติงานโดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง ซึ่งระบุว่า การวินิจฉัยเบื้องต้น วัณโรคปอดอาการดีขึ้นมาก ไม่ติดต่อผู้อื่น ใช้ยาลดลงแล้ว จำเลยสอบถามอาการโจทก์ โจทก์ว่ายังไม่หายดี ยังต้องใช้ยาต่ออีก 6 เดือน และจำเลยพบว่าโจทก์สูบบุหรี่ โจทก์ไม่ตั้งใจรักษาตัวให้หายขาดโดยเร็ว จำเลยจึงให้โจทก์พักรักษาตัวให้หายขาดและนำใบรับรองแพทย์มายื่นต่อจำเลย จำเลยยืนยันว่าไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์ หากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ก็ควรเป็น 19,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,466.67 บาท ไม่ใช่จำนวนตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,716.66 และค่าชดเชย 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 มิถุนายน 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 12 มีนาคม 2550 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถ โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,500 บาท โจทก์ป่วยเป็นวัณโรคต้องลางานเพื่อรักษาตัวตลอดมาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่ 21 เมษายน 2551 แพทย์ออกใบรับรองว่าอาการป่วยดีขึ้น ไม่ติดต่อผู้อื่น ใช้ยาลดลง ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 เวลา 11 น. โจทก์เข้ามาที่สำนักงานของจำเลยพบกับนายอุดมศักดิ์ เตชะวัฒนาศรี กรรมการผู้จัดการและประธานของจำเลย นายพร้อมเมศ อิริยะสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อสอบถามว่าจะให้โจทก์ทำงานได้หรือไม่ นายพร้อมเมศถามโจทก์ว่าขณะอยู่ที่หน้าสำนักงานโจทก์สูบบุหรี่ใช่หรือไม่ โจทก์ตอบว่าสูบจริง นายอุดมศักดิ์ บอกโจทก์ว่าไม่อยากเสียเวลาเรื่องนี้ จากนั้นนายอุดมศักดิ์เดินออกจากสำนักงาน นายพร้อมเมศบอกโจทก์ว่าประธานพูดเช่นนี้แสดงว่าเขาไม่เอาโจทก์แล้ว โจทก์ถามว่าเมื่อเลิกจ้างแล้วจะให้เงินเท่าไร นายพร้อมเมศแจ้งว่าพรุ่งนี้จะให้คำตอบ วันรุ่งขึ้นโจทก์โทรศัพท์ถามนายพร้อมเมศแจ้งว่าจะให้ 5,000 บาท โดยให้โจทก์ลาออก โจทก์ไม่ตกลงและไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาโจทก์ถอนคำร้องแล้วมาฟ้องเป็นคดีนี้ แล้ววินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 โดยไม่บอกกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้ววินิจฉัยว่าการที่นายอุดมศักดิ์ ปฏิเสธไม่พูดคุยกับโจทก์ถือเป็นการเลิกจ้าง เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์พบนายอุดมศักดิ์และนายพร้อมเมศที่สำนักงานของจำเลย โจทก์ตอบคำถามนายพร้อมเมศว่ายังสูบบุหรี่อยู่ นายอุดมศักดิ์ซึ่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วยจึงพูดกับโจทก์ว่าไม่อยากเสียเวลาเรื่องนี้แล้วเดินออกจากสำนักงานไป พฤติกรรมของนายอุดมศักดิ์เพียงเท่านี้ยังไม่ชัดแจ้งพอให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรณสอง ส่วนที่นายพร้อมเมศบอกโจทก์ว่าการที่นายอุดมศักดิ์พูดถึงโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้วก็เป็นเพียงความเห็นของนายพร้อมเมศซึ่งไม่ใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนจำเลยจึงไม่ผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลัง ให้ยกฟ้อง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด