คำพิพากษาฎีกาที่ 2471/2556
มาสายเป็นประจำ ถือว่ากระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและผู้จัดการปั๊มน้ำมัน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 55,464 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ยังไม่ได้ใช้วันลาพักผ่อนประจำปีอีก 6 วัน จำเลยต้องจ่ายเงินกองทุนสะสมคืนโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 332,784 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,464 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,093 บาท เงินกองทุนสะสม 39,000 บาท กับเงินที่จำเลยต้องจ่ายสมทบในส่วนของนายจ้าง 39,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 665,568 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2545 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและผู้จัดการปั๊มน้ำมัน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 55,464 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จำเลยเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม โต้เถียง แสดงกิริยาก้าวร้าว ใช้วาจาไม่สุภาพ ขาดความยำเกรง กระด้างกระเดื่อง และท้าทายผู้บริหารของจำเลย ทั้งไม่อุทิศเวลาให้จำเลย โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และประมาทเลินเล่อปิดงบบัญชี 2549 ล่าช้า ทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์ไม่สอดส่องในการกำกับดูแลและการจัดวางระบบการจัดเก็บรักษาเงินสด จนเป็นเหตุให้มีการยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ และมีทัศนคติและความประพฤติที่เป็นปรปักษ์กับจำเลยมาโดยตลอด จำเลยหาต้องรับผิดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,464 บาท และค่าชดเชย 332,784 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ( ที่ถูก คำขออื่นให้ยก )
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฏีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า วันที่ 13 มีนาคม 2549 โจทก์ แสดงกิริยาก้าวร้าวพูดกับผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงว่าถ้าเห็นว่าโจทก์ทำงานไม่ดีก็ให้เลิกจ้าง แล้ววางหูโทรศัพท์ใส่ผู้บริหารระดับสูงและปฏิเสธเข้าพบเมื่อผู้บริหารระดับสูงให้พนักงานเชิญโจทก์ไปพบ ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องให้เกียรติและต้องเคารพยำเกรง การกระทำของโจทก์เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่สมควรและไม่ถูกต้องเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดีอีกด้วย ประกอบกับโจทก์เองก็มีพฤติการณ์มาทำงานสายเป็นประจำจะมาอ้างว่าแม้มาสายก็ทำงานครบ 8 ชั่วโมง ไม่ได้ โจทก์มีตำแหน่งถึงผู้จัดการ ย่อมต้องประพฤติตนให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชา โจทก์ได้ลาป่วยวันที่ 1 , 2 และ 4 ธันวาคม 2549 แต่ในวันที่ลาป่วยโจทก์ไปซื้อรถยนต์ใหม่ยี่ห้อนิสสัน รุ่นเทอร์ราโนและได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปติตั้งแก๊ส โจทก์ลาป่วยเป็นเท็จเนื่องจากไม่ได้ป่วยจริง เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 5 เอกสารหมาย ล.3 (หรือ จ.11) จำเลยมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์แล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การกระทำของโจทก์แม้จะไม่ถูกต้องไม่สมควรไปบ้าง ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย โจทก์ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า ตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเอกสารหมาย ล.15 ข้อ 2 ระบุว่า โจทก์ไม่อุทิศเวลาทำงานให้บริษัทฯ มีการมาปฏิบัติงานสาย ลาป่วย ลากิจมากเกินปกติในรอบปี 2549 จนถึงรอบปีปัจจุบัน ซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 1.1 ก็ระบุว่าโจทก์มาทำงานสายถึง 38 ครั้ง รวม 4 ชั่วโมง 5 นาที และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ ถือว่าเป็นการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าการลาของโจทก์ในวันที่ 1 , 2 และ 4 ธันวาคม 2549 เป็นการลาป่วยอันเป็นเท็จและยังเป็นการขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน เห็นว่า เป็นข้ออุทธรณ์ที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและตามอุทธรณ์จำเลยข้อ ข จำเลยยกเหตุคำสั่งเลิกจ้าง เอกสารหมาย ล.15 ในข้อ 3 และข้อ 4 โดยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่ารับฟังพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวนั้นเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.