เลิกจ้าง ! อย่างไร ? ให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หลายท่านอาจกำลังค้นหา หรือวางแผนการเลิกจ้าง หรือต้องการเลิกจ้างพนักงาน แต่ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจ ขั้นตอน วิธีการ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การเลิกจ้าง มีสาเหตุหรือที่มาอยู่มากมาย หลายประการ แต่บทสรุปที่กฎหมายถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ก็คือการที่นายจ้างบอกยกเลิกสัญญาจ้าง เพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือกระทำความผิด หรือเหตุผลทางธุรกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง
ในที่นี้ กฎหมายให้หมายความรวมถึง พฤติกรรมหรือการกระทำใด ๆ ที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง โดยมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่มอบหมายงานให้ทำ ให้ถือว่ามีเจตนาเลิกจ้างลูกจ้างด้วย
ในครั้งนี้ ผมขอกล่าวถึงหลักทั่วไปเกี่ยวกับการเลิกจ้างเสียก่อน ว่าแนวทางการเลิกจ้าง และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง
เมื่อต้องการเลิกจ้างลูกจ้าง สิ่งที่ต้องเรียนรู้และพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างมีอะไรบ้าง ถ้าไม่ปฏิบัติตาม มีผลอย่างไร
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้าง มีอยู่หลายมาตรา กฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญ ๆ ที่ต้องทราบ เป็นหลักการ คือ
1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ บทกฎหมายที่ควรรู้คือ มาตรา 9,10,17,67,70,118,119,120,144
มาตรา 9 และมาตรา 10 หลักกฎหมาย คือ
หลักกฎหมายว่าด้วย เงินประกันการทำงาน สรุปหลักการ คือ เมื่อมีการเลิกจ้างหรือลาออก หากลูกจ้างไม่ทำให้นายจ้างเสียหาย อันเนื่องมาจาการทำงาน นายจ้างมีหน้าที่ต้องคืนเงินประกัน พร้อมดอกเบี้ยให้ลูกจ้าง ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้างหรือลาออก หากไม่จ่าย ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว
มาตรา 17 หลักกฎหมายคือ
สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญา สามารถเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
หากเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสื อให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง
มาตรา 67 หลักกฎหมาย คือ
ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง โดยไม่มีความผิด ตามมาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างแก่ลูกจ้าง ตามส่วน
หากถูกเลิกจ้าง เพราะมีความผิด ตามมาตรา 119 หรือลูกจ้างลาออก ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ที่มีสิทธิได้รับให้ลูกจ้าง (กรณีนี้ หากบริษัทไหนไม่มีการสะสม ก็ไม่ต้องจ่าย)
มาตรา 70 หลักกฎหมาย คือ
เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ภายใน
3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง
มาตรา 118 หลักกฎหมายคือ
การกำหนดอัตราค่าชดเชย เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยกำหนดอัตราค่าชดเชยตามอายุการทำงาน คือ อายุงานครบ 120 วัน ไม่ถึง 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า ยกเว้นงานโครงการหรืองานตามฤดูกาล
มาตรา 119 หลักกฎหมายคือ
เหตุยกเว้นที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามมาตรา 118 ซึ่งมีหลายกรณี อาทิ ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือฝ่าฝ่นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม กรณีร้ายแรง หรือกระทำความผิดซ้ำคำเตือน หรือขาดงานละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นต้น
มาตรา 144 คือ
บทกำหนด โทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายในมาตราที่กล่าวมาข้างต้น และมาตราอื่น ๆ อีกหลายบท ซึ่งมีโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 หลักกฎหมาย คือ
หากลูกจ้างกระทำความผิด ไม่ว่จะเป็นการขัดคำสั่งเป็นอาจิณ ละทิ้งหน้าที่ไป กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เสร็จลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
3. พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บทกฎหมายที่ควรรู้คือ มาตรา 31,52,123,136,143,158
มาตรา 31 หลักกฎหมาย คือ
ระหว่างที่การยื่นข้อเรียกร้องหรือเจรจาข้อเรียกร้อง ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การ ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่ ลูกจ้างกระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 นั่นเอง
มาตรา 52 หลักกฎหมาย คือ
ห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้าง กรรมการลูกจ้าง ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เน้นนะครับ
ตำแหน่งที่ว่า คือ กรรมการลูกจ้างที่ได้รับตำแหน่งมาตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 45 ครับ ไม่ใช่กรรมการสหภาพหรือกรรมการสวัสดิการหรือสมาชิกสหภาพ อย่าหลงผิด
มาตรา 123 หลักกฎหมาย คือ
ระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้เลิกจ้างห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่กระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 เช่นเดียวกันกับ กรณีมาตรา 31 แต่แตกต่างกันตรงช่วงวันเวลาที่จะเลิกจ้างเท่านั้น คือ มาตรา 31 กำหนดช่วงเวลา ระหว่างยื่นข้อเรียกร้องหรืออยู่ระหว่างเจรจาข้อเรียกร้อง ส่วน มาตรา 123 บังคับใช้ระหว่าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับอยู่
มาตรา 136,143,158 คือ
บทกำหนด โทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายในมาตราที่กล่าวมาข้างต้น และมาตราอื่น ๆ อีกหลายบท ซึ่งมีโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อเรารับทราบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้าง แล้ว เราก็พิจารณาต่อไปว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพนักงานที่เราจะเลิกจ้างนั้น เป็นอย่างไร เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขบังคับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ พนักงานมีสิทธิตามกฎหมายอะไรบ้าง และเมื่อเลิกจ้างแล้ว ต้องดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลิกจ้าง นั้น มีมากมายหลายเหตุ หลายปัจจัย แต่สรุปบทกฎหมายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีไม่กี่มาตรา ตามที่เรียนไปแล้วข้างต้น ตัวอย่างเช่น
ทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน เมื่อครบกำหนด ไม่ต้องการต่อสัญญา ต้องการเลิกจ้าง จะทำอย่างไร เราก็ลองไล่สายตามหลักกฎหมาย นะครับ
เริ่มต้น จาก พรบ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 17 เข้าตามหลักเกณฑ์มั๊ย ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ถือว่า เข้าข้อยกเว้นนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ก็ต้องพิจารณาในทางบริหารจัดการด้วยว่า จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ เพื่อให้ทราบหรือเตรียมตัวหรือต้องส่งมอบงาน หรืออาจจะเสียหายมากกว่า ถ้าพนักงานรู้ล่วงหน้า จึดนี้ฝ่ายบุคคลก็ต้องวิเคราะห์เองให้ได้ว่าสถานะภาพของบริษัทกับพนักงานเป็นอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไร
พิจารณาต่อตามหลักกฎหมาย คือ เลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอะไรบ้าง ซึ่งก็คือ
มาตรา 67 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนตามส่วนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ
มาตรา 118 พนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เพราะไม่เข้าข้อยกเว้น มาตรา 119
พิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 52 ตรวจสอบว่า เป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่
การเลิกจ้างไม่ว่าจะเลิกจ้างด้วยเหตุใด ก็ตาม หากพนักงาน เป็นกรรมการลูกจ้าง นายจ้างต้องยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้าง จากศาลก่อนทุกครั้ง ยกเว้น พนักงานลาออกจากการเป็นพนักงานเอง หรือลาออกจากการเป็นกรรมการลูกจ้าง อย่างนี้เลิกจ้างได้ ไม่ต้องขออนุญาตศาล
และเมื่อเลิกจ้างแล้ว มีอะไรต้องทำอีกหรือไม่ เช่น มาตรา 70 ต้องจ่ายต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ฯ ภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง จะไปรอจ่ายในรอบเดือนตามปกติไม่ได้นะครับ พนักงานไปร้องหรือฟ้อง ท่านอาจต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้
หากเราไล่สายตามหลักกฎหมายดังกล่าว การเลิกจ้างหรือวางแผนเพื่อการเลิกจ้าง ก็จะสมบูรณ์ ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
เบื้องต้น ผมขอยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ก่อน รายละเอียดติดตามได้ในบทความต่อไป ซึ่งผมจะอธิบายถึงสาเหตุหรือเหตุผลในการเลิกจ้าง ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เอาไว้ติดตามต่อบทความต่อไปครับ
บรรยายโดย นายไสว ปาระมี